62กำนัน-ผญบ.เมืองฮอด รวมพลังคัดค้านผันน้ำยวม ชี้ชัดชาวบ้านไม่ต้องการ





2 มี.ค.2566 นายวิรัช อ้ายจาง กำนันตำบลนาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมประจำเดือน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ สมาชิกชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อ.ฮฮด รวม 62 คน ร่วมกันลงนามจดหมาย เรื่องขอแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวผันน้ำยวม)

โดยขอให้เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และยุติการดำเนินการทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง ส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยยื่นหนังสือผ่าน นายจักรินทร์ สิรินทรภูมิ นายอำเภอฮอด

นายวิรัช กล่าวว่า จดหมายดังกล่าวเป็นมติเห็นชอบร่วมกันของสมาชิกชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ฮอด เนื่องจากชาวบ้านต่างมีข้อคิดเห็นตรงกันชัดเจนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและคัดค้านต่อโครงการ และขอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการ

1.ขอให้ยุติโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) หรือ โครงการผันน้ำยวม ของกรมชลประทาน

2.ขอให้เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวผันน้ำยวม) ของกรมชลประทาน

3.ขอให้ยุติการดำเนินการใดๆทุกโครงการที่เกี่ยวข้องกับ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) อาทิ โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น

กำนันตำบลนาคอเรือ กล่าวว่า ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน ติดตามโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) มาอย่างต่อเนื่องด้วยความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทราบว่าโครงการดังกล่าวผลักดันโดยกรมชลประทาน โดยมีการทำโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (4Ps) แล้วพบว่า ค่าใช้จ่ายโครงการ งานดำเนินงาน บำรุงรักษา และค่าลงทุนจะสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังดำเนินงานการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ลำพูน-สบเมย (ส่วนที่พาดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวเนื่องกับโครงการผันน้ำยวมด้วย

“ชมรมฯ ซึ่งเป็นผู้นำทางการของประชาชนในพื้นที่ มีความเห็นว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรุนแรงและกว้างขวาง โดยตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 6 ปีที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการผันน้ำยวมข้ามลุ่มน้ำดังกล่าวตลอดมา

เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีความไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับหลักการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ พร้อมทั้งยังขอให้มีการทบทวนราย EIA และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ให้มีการศึกษาที่ครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ และจะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินที่จะไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า”นายวิรัช กล่าว

กำนันตำบลบนาคอเรือ กล่าวว่า ชมรมฯ มีความกังวลในหลายประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับข้อมูลอย่างชัดเจน และความเห็นต่างๆ ของผู้ได้รับผลกระทบที่ได้เสนอไปกลับไม่ได้รับการพิจารณาไว้ในรายงาน EIA เราพบว่า กระบวนการจัดทำและเนื้อหาในรายงาน EIA ผิดพลาดจากข้อเท็จจริง ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีความโปร่งใส และขาดการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยะสำคัญ

การเก็บข้อมูลหลายครั้งเป็นเพียงการพบในเวลาสั้นๆ ไม่ได้มีลักษณะของการประชุมเพื่อจัดทำข้อมูลหรือข้อคิดเห็นตามมาตรฐานของกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อรายงาน EIA มีช่องโหว่หรือข้อบกพร่องสำคัญในลักษณะดังกล่าว ย่อมไม่สมควรที่จะใช้เป็นฐานในการตัดสินใจผลักดันโครงการที่มีมูลค่างบประมาณสูงถึงเกือบสองแสนล้านบาท

2.ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งจะได้รับผลกระทบยังไม่ได้รับรู้ถึงข้อมูลโครงการที่รอบด้านและเพียงพอ ไม่ได้ทราบข้อมูลผลดีหรือผลเสียของโครงการอย่างแท้จริง ไม่ทราบรายละเอียดที่จะจัดทำโครงการทั้งหมดที่จะทำให้เกิดการตัดสินใจในโครงการได้”

กำนันวิรัช กล่าวว่า ชาวบ้านจำนวนมากใน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวด จากการถูกเวนคืนที่ดินเมื่อครั้งก่อสร้างเขื่อนภูมิพลมาแล้ว จวบจนปัจจุบันแม้เวลาผ่านไปแล้วกว่า 50 ปี กระบวนการการชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็ยังไม่แล้วเสร็จ

ดังนั้น หากมีการดำเนินโครงการผันน้ำยวมมาอีก จะทำให้พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนต้องได้รับผลกระทบอีก เท่ากับเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านเป็นครั้งที่สอง

“ตั้งแต่ฤดูฝนปี 2565 จนถึงเดือนที่ผ่านมา หลายพื้นที่ ของ อ.ฮอด ทั้งพื้นที่เกษตร ถนน และสะพาน ต้องจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลาหลายเดือน เนื่องจากการเพิ่มการกักเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ชาวบ้าน อ.ฮอด ต้องเป็นผู้รับต้นทุนความเสียหายซ้ำๆ โดยไม่มีการเยียวยาที่ดีพอ

ชมรมฯ เห็นว่า ชาวบ้านถูกทำให้เป็นผู้เสียสละมามากพอแล้ว ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านได้มีการหารือร่วมกันแล้วเล็งเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำหนังสือฉบับนี้ขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นประเด็นปัญหาและแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการ เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างใหญ่หลวง” กำนันกล่าว และว่าจดหมายฉบับดังกล่าวได้ส่ง สำเนาถึง อธิบดีกรมชลประทาน และผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้การบรรยากาศการยื่นหนังสือเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นความกังวลร่วมกันของประชาชนใน อ.ฮอด

ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน นายวีระกร คำประกอบ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 นครสวรรค์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวผ่านรายการ “พรรคภูมิใจไทย พูดแล้วทำ”สนับสนุนโครงการผันแม่น้ำยวม เพื่อลดการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ขณะที่นักวิชาการและชาวบ้านต่างคัดค้านเนื่องจากมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุดและไม่คุ้มค่าเพราะต้องลงทุนมหาศาลซึ่งไม่คุ้มค่าต่อเม็ดเงินในการลงทุนและยังทำลายพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ของ 3 จังหวัดภาคเหนือคือแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และตาก ที่สำคัญคือการจัดทำอีไอเอที่ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากชุมชน ทำให้มีข้อมูลคลาดเคลื่อนจำนวนมาก เช่น จำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบซึ่งมีมากกว่าที่เขียนไว้ในอีไอเอ

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: