6 มีนาคม นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า กคช.มีแผนจะนำโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ยังคงเหลือ 18,000-19,000 ยูนิต เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ขายยกล็อตให้กับเอกชนและหน่วยงานรัฐที่สนใจในราคายูนิตละ 400,000 แสนบาท รวมเป็นเงินประมาณ 7,600 ล้านบาท เพื่อปิดฉากบ้านเอื้ออาทรหลังกคช.ต้องแบกรับภาระหนี้เงินกู้มากว่า 15 ปี โดยวันที่ 9 มีนาคมจะเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กคช.พิจารณาอนุมัติ หากได้รับการเห็นชอบจะเสนอครม.อนุมัติวันที่ 14 มีนาคมนี้ เพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้เงินกู้โครงการบ้านเอื้ออาทรยังมีอยู่ประมาณ 19,000 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคมนี้ประมาณ 2,000 ล้านบาทและในเดือสิงหาคมอีก 2,000 ล้านบาท
“หากไม่มีเอกชนหรือส่วนราชการสนใจ กคช.จะให้บริษัทเคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทลูกของ กคช.ใช้สิทธิเข้าไปซื้อยกล็อต เพื่อนำมาปรับปรุงใหม่ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเช่า 1,500 บาทต่อเดือนและซื้อในราคาถูก ในราคาประมาณ 400,000-450,000 บาทต่อยูนิต หากเสนอโครงการเข้าครม.ไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ ต้องเสนอรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติต่อไป กคช.ต้องหาเงินก้อนมาชำระหนี้ และต้องกู้เงินเพิ่ม”นายทวีพงษ์กล่าว
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้เพื่อเป็นการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรองรับผู้มีรายได้น้อย กคช.ได้ขอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณร่มเกล้ามีอยู่กว่า 600 ไร่ ติดถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ จากผังเมืองรวมกรุงเทพปัจจุบันกำหนดเป็นพื้นที่สีเหลืองสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารสูงได้ไม่เกิน 5 ชั้น เป็นพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรมให้สร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ โดยมีแผนจะพัฒนาเป็นเมืองใหม่ จะนำที่ดินโซนด้านหน้า 40 ไร่พัฒนาเป็นโครงการนำร่อง เป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ โดยให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ระยะเวลา 30+30 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด ภายในโครงการมีอาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียมสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจะให้เช่าหรือเช้ง จำนวนกว่า 10,000 ยูนิต มูลค่าการลงทุนหลาย 10,000 ล้านบาท
“ที่ดินแปลงนี้อยู่ใกล้ถนนและรถไฟฟ้าสายสีส้มและแอร์พอร์ตเรลิงก์ แต่เพื่อให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น และเพื่อให้การขอปรับผังเมืองได้ง่าย กคช.จะก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดรอง หรือไรท์เรล เหมือนสายสีทอง มารองรับการเดินทางจากโครงการไปยังสายสีส้มและแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย ”นายทวีพงษ์กล่าว
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ