9 มีนาคม 2566 น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้กำหนดให้ยืนยันตัวตนด้วย biometric ผ่านหน้า Face Recognition โดยกำหนด 3 ธุรกรรมที่ต้องยืนยันตัวตนคือ 1.การโอนวงเงินเกิน 50,000 บาทต่อรายการ 2.โอนวงเงินเกิน 200,000 บาทต่อวัน และ 3.การปรับเพิ่มวงเงินเกิน 50,000 บาทต่อวัน โดยลูกค้าจะต้องมีการ Verify ตัวตนลูกค้า การทำทั้ง 3 ส่วนจะช่วยป้องกันภัยจากคนร้าย และช่วยแก้บัญชีม้าได้ หากมีการบังคับใช้สแกนใบหน้า”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธปท.ได้เชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ เข้าประชุมร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ในเรื่องเกี่ยวกับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ภายหลังจาก ธปท. ออกแนวนโยบายเป็นชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน กำหนดเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้ สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน
โดยการรักษาสมดุลระหว่างการบริหารจัดการความเสี่ยงกับการส่งเสริมบริการทางการเงินดิจิทัล รวมถึงช่วยให้สถาบันการเงินป้องกันความเสี่ยงและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ชุดมาตรการได้เน้นการแก้ปัญหาใน 3 มาตรการหลัก อาทิ 1.มาตรการป้องกัน เพื่อปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น 2.มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และลดการใช้บัญชีม้า และ 3.มาตรการตอบสนองและรับมือ เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริการที่ ธปท. อยากให้เพิ่มเร่งด่วน คือกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า (ไบโอเมทริก) เช่น สแกนใบหน้า ในกรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีโดยผ่านแอพพลิเคชั่นของสถาบันการเงิน (non-face-to-face) หรือทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งในเงื่อนไขที่กำหนดไว้
ด้าน นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารพร้อมปรับระบบโมบายแบงกิ้งของแอพพ์ธนาคาร โดยได้ตั้งงบลงทุนหลักหมื่นล้านสำหรับด้านไอทีไว้ทุกปี โดยมาตรการล่าสุดของ ธปท.ธนาคารสามารถดำเนินการได้ทันที คาดว่าจะสามารถปรับระบบทั้งหมดได้ทันก่อนเดือนมิถุนายน 2566 หรือบางบริการอาจใช้ได้ก่อน เช่น ระบบการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า (ไบโอเมตริก) ผ่านการสแกนใบหน้าที่ผ่านมาได้มีการเก็บใบหน้าของผู้ใช้บริการไว้แล้ว 70-80% ของทั้งหมด
นอกจากนี้ จะปรับฟีเจอร์ให้สอดคล้องกับมาตรการของ ธปท. อาทิ การเพิ่มการยืนยันด้วยใบหน้า การเพิ่มวงเงินในการโอนแต่ละครั้งต้องมีการแจ้งเตือน การโอนเงินในจำนวนมากหลายครั้งติดต่อกัน ซึ่งจะทำให้ป้องกันการเกิดความเสียหาย และป้องกันภัยจากมิจฉาชีพมากขึ้น ซึ่งในฐานะที่ธนาคารมีผู้ใช้งานโมบายแบงกิ้งมากที่สุด จึงมีการยกระดับความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีอยู่เสมอ
“อย่างไรก็ตาม ภัยทางการเงินที่เกิดขึ้นยังไม่กระทบให้ผู้ใช้โมบายแบงกิ้งลดลง และยังมีการเติบโต ซึ่งปีนี้ธนาคารตั้งเป้ายูสเซอร์เพิ่มถึง 26 ล้านยูสเซอร์ จากที่มีอยู่ 21 ล้านยูสเซอร์ และปัจจุบันธนาคารยังครองผู้ใช้บริการโมบายแบงกิ้งเป็นอันดับหนึ่ง” นางสาวขัตติยา กล่าว
นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) กล่าวว่า ธนาคารพร้อมยกระดับความปลอดภัยของโมบายแบงกิ้งตามมาตรการของ ธปท. ซึ่งไม่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมเป็นการดำเนินงานภายใต้งบลงทุนปกติ ทั้งนี้ ธนาคารมีแผนที่จะยกระดับความปลอดภัยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/2566 แต่จะเร่งให้ทันตามกรอบเวลาที่ ธปท.กำหนด โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ใบหน้ายืนยันตัวตนที่ต้องมีการเก็บใบหน้าของลูกค้า
“ปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลใบหน้าไว้แล้ว 80% เป็นการเก็บข้อมูลผ่านสาขาและจะนำมาเชื่อมกับผู้ใช้งานโมบายแบงกิ้งเพื่อยืนยันตัวตนตามมาตรการของ ธปท.ส่วนลูกค้าที่ยังไม่มีข้อมูลใบหน้าก็จะให้ลูกค้าทยอยมาเพิ่มข้อมูลผ่านสาขาของธนาคาร” นายฐากร กล่าว
ขณะที่ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีและไอทีต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า ซึ่งในส่วนของมาตรการสแกนใบหน้าได้มีการเก็บข้อมูลลูกค้ามาแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งตามกรอบเวลาของ ธปท.ที่มีการกำหนดใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2566 จะสามารถทำได้ทัน
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ