คลิปตำรวจสายตรวจ ร่างตุ้ยนุ้ยบนรถมอเตอร์ไซค์ ถูกแชร์บนติ๊กต่อก จนมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เมื่อสอบถามไปยังต้นสังกัดพบว่านายตำรวจดังกล่าวมีอาการป่วย แต่ปฏิบัติหน้าที่ไม่บกพร่อง กลับถูกบูลลี่ ทำให้ต้องย้ายเวรการทำงานไปอยู่กลางคืน เพื่อหลีกหนีจากสายตา คำดูถูก ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ตำรวจ
ดาบตำรวจมานพ วงษ์นารี ผบ.หมู่ สภ.เมืองสมุทรสาคร อายุ 50 ปี เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า อาการอ้วน เกิดจากฮอร์โมนทำงานผิดปกติ ตรวจพบเมื่อหลายปีก่อน หมอบอกว่าพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะตำรวจมักทำงานพักผ่อนไม่เป็นเวลา ต้องสลับเข้าเวรกลางคืน ส่งผลให้เกิดภาวะฮอร์โมนทำงานผิดปกติ
การเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ เมื่อต้องเข้าเวรกลางคืนก็ต้องทานอาหาร ไม่อย่างนั้นจะหิว แต่พอสลับเวรมาเข้ากลางวัน ต้องกินข้าวผิดเวลาไปจากเดิม พอเป็นสะสมนาน เลยทำให้ร่างกายผิดปกติ จากน้ำหนัก 70 กิโลกรัม ขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนนี้หนัก 218 กิโลกรัม
หมอแนะนำว่า ต้องผ่าตัดเพื่อเย็บกระเพาะ หรือต้องลาออกจากราชการเพื่อพักฟื้น แต่ตนเป็นคนที่มีต้นทุนน้อย ต้องรับราชการ เพื่อนำเงินมาเลี้ยงครอบครัวและลูก ประกอบกับค่าผ่าตัดใช้เงินกว่า 2 แสนบาท และไม่สามารถเบิกได้ เลยปล่อยมาเรื่อยๆ แต่ต้องไปพบแพทย์ประจำ
อาการเริ่มแรก คือ ตัวบวม ค่าน้ำตาลในเลือดสูง เรื้อรังจนเป็นเบาหวาน ความดัน นอนไม่หลับ ไอกรน เฉลี่ยค่ายาในการรักษาต่อเดือน 3,000 – 4,000 บาท โดยยาส่วนนี้ เป็นยานอกบัญชีการเบิก
โรคอ้วนที่เป็นอยู่ไม่ส่งผลกระทบกับงานที่ทำ เพราะทำหน้าที่สายตรวจตามชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่พอเห็นก็ถามว่าเป็นโรคอะไร พออธิบายชาวบ้านก็เข้าใจ และทักทายเสมอเวลาเข้าไปในพื้นที่
“เราเป็นตำรวจที่ป่วยกาย ไม่ได้ป่วยใจ ช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ถ้างานยาก จะเรียกให้เพื่อนที่โรงพักมาช่วย ที่ผ่านมามักถูกบูลลี่ จากคนที่ไม่เข้าใจ เคยมีคนถ่ายคลิปขณะทำงาน แล้วไปโพสต์ในโลกโซเชียลว่า ตำรวจทำไมอ้วนขนาดนี้ แต่คนโพสต์ไม่รู้ว่าป่วย ระยะแรกที่ถูกบูลลี่ เคยปรึกษาผู้บังคับบัญชา ท่านแนะนำว่า ตำรวจต้องให้บริการประชาชน บางคนอัดคลิปไปโพสต์ต่อ แต่เราต้องทำหน้าที่ให้ดี ตำรวจคือคนของสังคม แม้ถูกด่าก็ต้องหนักแน่น”
ที่ผ่านมาสังคมไทยมักตั้งมาตรฐานว่า ตำรวจต้องหุ่นดี แต่ไม่นึกว่าบางคนมีอาการป่วย สำหรับคนที่ไม่เข้าใจ เวลาทำงาน ถ้าคนนั้นไม่ชอบ ก็แค่ทำงานของตัวเองให้เสร็จสิ้น แล้วรีบกลับโรงพัก ไม่ต้องไปโชว์ตัว หรือแสดงออกให้คนอื่นเห็นมากนัก
“ผมมักทำงานช่วงกลางคืน เพราะกลางวันอาจเป็นที่สังเกตของคนที่ไม่เข้าใจ บางคนมาแอบถ่ายไปลงโซเชียล ทั้งที่ใจของเราก็อยากช่วยประชาชน แต่บางคนมองแค่รูปร่างภายนอก”
ขณะนี้ พอมีการแชร์บนโลกโซเชียลมากขึ้น ผู้บังคับบัญชาได้ประสานกับโรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยเหลือในการผ่าตัด ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกินกว่าจะเบิกได้ เพื่อนๆ จะช่วยกันสมทบทุน และเปลี่ยนให้มาทำงานบนโรงพักแทนการเป็นสายตรวจ จนกว่าการผ่าตัดจะเสร็จสิ้น
“ผมท้อได้บางครั้ง แต่ท้อตลอดชีวิตไม่ได้ ผมอยากให้ทุกคนที่ท้อ หันมาสู้ เชื่อว่าการทำความดี ไม่เป็นสิ่งที่ผิด อย่างน้อยชาวบ้านก็เอ็นดูเรา ถึงพิการทางร่างกาย แต่ชาวบ้านก็ช่วยเหลือผม คอยให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ผมจะสู้ จนกว่าจะไม่ไหว เมื่อใดที่นายบอกว่าผมไม่ไหว ก็พร้อมพิจารณาตัวเอง”
ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ