19 พฤษภาคม ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางแยกนครราชสีมา ทางหลวงหมายเลข 2 ถ.มิตรภาพ กับทางหลวงหมายเลข 224 ถ.ราชสีมา-โชคชัย
โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน เจ้าของสถานประกอบการและประชาชนชาวโคราชร่วม 200 คน รับฟังนายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) นายชิตพล เหล่าอัน แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 และนายทวีศักดิ์ ศักดิ์นานนท์ นายช่างโครงการ ชี้แจงให้ความรู้และทำความเข้าใจขั้นตอนการดำเนินโครงการรวมทั้งเปิดโอกาสให้เสนอแนวทางการบรรเทาปัญหาจราจรคับคั่งช่วงก่อสร้าง
นายพรชัยเปิดเผยว่า สภาพการจราจรคับคั่งบน ถ.มิตรภาพ ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช บริเวณทางแยกนครราชสีมา ซึ่งมีปริมาณรถต่อวันประมาณ 1.2 แสนคัน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพทั้งการเดินทางไม่สะดวกและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเวลากว่า 10 ปี กรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด
แต่มีเสียงคัดค้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นกลุ่มผู้ประกอบการค้าและชาวโคราชส่วนหนึ่ง ทำให้ต้องชะลอโครงการ ที่ผ่านมาได้จัดการจราจรด้วยไฟสัญญาณจราจร รวมทั้งเพิ่มช่องทางจราจร แต่ไม่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางอย่างเพียงพอ รวมทั้งมีปัญหาหลากหลาย
โดยนำผลการศึกษามาทบทวน ปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน เพื่อเสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางแยกนครราชสีมา รูปแบบ 2 ช่องจราจร รองรับการจราจรบน ถ.มิตรภาพ จาก จ.ขอนแก่น เลี้ยวขวาไป จ.สระบุรี รวมระยะทาง 1,181 เมตร เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกขณะก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องปิดเส้นทางจราจรบริเวณพื้นที่โครงการ ทำให้การสัญจรไม่สะดวกคล่องตัวและใช้เส้นทางอ้อมส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จึงเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบเสนอปัญหา เพื่อนำมาพิจารณา ทบทวนปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับการเดินทางของคนเมือง ล่าสุด บริษัท รัชตินทร์ จำกัด เป็นผู้รับจ้างใช้งบ 480 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 960 วัน เริ่มดำเนินการประมาณปลายปี 2566
ด้านนายประยุทธ แซ่เตียว เจ้าของกิจการ “ชุนหลี” แบตเตอรี่ ตัวแทนจำหน่ายใหญ่ที่สุดในโคราชและโรงแรมชุนหลีแกรนด์ กล่าวในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ว่า การก่อสร้างทางลอดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้เดือดร้อนคือผู้ประกอบการกว่า 300 ราย ช่วงก่อสร้างใช้เวลาร่วม 3 ปี สภาพจราจรติดขัด ผู้คนจะไม่มาใช้เส้นทางในเมือง การค้าขายซบเซา ความเสียหายเฉลี่ยปีละกว่า 1 พันล้านบาท รวมทั้งการสัญจรของประชาชนที่มีที่พักอาศัยในพื้นที่โครงการ นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำท่วม อุบัติเหตุการจราจรซึ่งความเสียหายยังไม่มีผู้ใดเสนอตัวออกมารับผิดชอบ
“ข้อมูลสภาพการจราจรช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนยานพาหนะที่ใช้เส้นทางดังกล่าว เริ่มมีปริมาณลดลงเฉลี่ยกว่า 30% และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีการใช้ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาแทนแล้วจะสร้างทางลอดเพื่ออะไร มีแต่ทำให้ทัศนียภาพเมืองเสียหาย จึงคัดค้านการดำเนินโครงการ เพื่อนำงบประมาณที่ได้จากภาษีประชาชนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน” นายประยุทธกล่าว
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ