20 พ.ค. 2566 พญ.ณัฎลดา ลิโมทัย อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท รพ.เวชธานี กล่าวว่า โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง ทำให้มีการสร้างสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าโดปามีนลดลง ซึ่งสารโดปามีนมีหน้าที่หลักในการควบคุมการเคลื่อนไหว เรียบเรียงความนึกคิด และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ
พญ.ณัฎลดา กล่าวต่อว่า อาการของโรคพาร์กินสันมีทั้งที่แสดงออกทางการเคลื่อนไหว เช่น อาการสั่น อาการแข็งเกร็ง การเคลื่อนไหวช้า ท่าเดินที่ผิดปกติ การทรงตัวที่ไม่ดี หรือแม้กระทั่งปัญหาการหกล้ม เหล่านี้เป็นอาการทั่วไปของโรคพาร์กินสันที่หลายคนทราบ แต่แท้จริงแล้วยังมีอาการแสดงที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว จนบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าอาการเหล่านี้มีสาเหตุเกิดจากโรคพาร์กินสัน เช่น การนอนละเมอ
“บางรายถึงขนาดทำร้ายร่างกายของคนที่นอนร่วมเตียง และปัญหาการขับถ่ายโดยเฉพาะอาการท้องผูก ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยพาร์กินสัน โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากมีความเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่”
พญ.ณัฎลดา กล่าวอีกว่า อาการเหล่านี้อาจพบเป็นอาการนำก่อนที่จะเริ่มพบอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหวหรืออาการสั่นมาก่อนหลายปีก็ได้ ซึ่งผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางส่วนอาจไม่ตระหนักถึงอาการของโรคเพราะคิดว่าเกิดจากอายุที่มากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดผลเสียต่างๆ ตามมา เช่น มีความเสี่ยงหกล้มง่าย เพราะฉะนั้นหากเริ่มมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
พญ.ณัฎลดา กล่าวต่อว่า การรักษาโรคพาร์กินสัน แพทย์จะแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการใช้ยา เพื่อเพิ่มการออกฤทธิ์ของสารโดปามีนในสมอง ซึ่งมีทั้งรูปแบบรับประทาน แผ่นแปะ และยารูปแบบฉีดใต้ผิวหนัง โดยพบว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีการตอบสนองต่อยาได้ดีมากถึง 70-100% และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนปกติก่อนเกิดอาการ
พญ.ณัฎลดา กล่าวอีกว่า การรับประทานยาที่ถูกต้องคือ รับประทานยาตอนท้องว่าง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ดี เช่น ก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง หรือหลังอาหาร อย่างน้อย 1 ชั่วโมง หากรับประทานยาใกล้เคียงกับมื้ออาหารโดยเฉพาะกลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ และนม จะทำให้การดูดซึมยาน้อยลง หรือยาอาจจะไม่ออกฤทธิ์ นอกจากนี้ ยังควรรับประทานยาให้ตรงเวลาตามจำนวนครั้งและปริมาณที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันอาการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ควร
พญ.ณัฎลดา กล่าวต่อว่า เมื่อการตอบสนองของยาลดลง ไม่ดีเหมือนช่วงแรกของการรักษา และมีการตอบสนองของยาไม่สม่ำเสมอ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นประสาทส่วนลึก โดยใช้กระแสไฟฟ้าควบคุมวงจรการทำงานของสมอง สามารถช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมการเคลื่อนไหวโดยรวมและทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพโดยทั่วไปก็เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน โดยแนะนำให้ออกกำลังกาย เช่น เดิน ปั่นจักรยาน หรือออกกำลังกายในบ้าน การรับประทานอาหารที่มีพลังงานและโปรตีนเพียงพอ เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และผักผลไม้เพื่อช่วยเรื่องการขับถ่ายให้ดีขึ้น
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ