20 พ.ค. 2566 พญ.โรจนี เลิศบุญเหรียญ กุมารแพทย์ประจำสาขาเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า ขณะนี้หอผู้ป่วยเวชบำบัดวิกฤตเด็ก รพ.รามาธิบดี เริ่มมีผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในภาวะอ้วนมีอาการของโรคติดเชื้อไข้เลือดออกรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากช่วงเข้าฤดูในเป็นช่วงการระบาดตามธรรมชาติของโรคนี้ อาการจะเริ่มทรุดลงหลังไข้ลดประมาณ 3-5 วัน
พญ.โรจนี กล่าวต่อว่า ขณะที่เด็กที่อยู่ในภาวะอ้วนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้เลือดออกที่รุนแรงได้มากกว่าเด็กปกติ เนื่องจากมีการอักเสบของร่างกายที่อาจจะรุนแรงกว่าเด็กปกติ และสังเกตอาการได้ยากกว่า อีกทั้งยังพบว่าในการเจาะเลือดเพื่อตรวจ หรือให้การรักษาด้วยการให้สารน้ำในช่วงวิกฤต เช่น การให้น้ำเกลือในปริมาณที่เหมาะสมและยาทางหลอดเลือดดำ ทำได้ยากกว่าเด็กปกติ จำเป็นต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ
พญ.โรจนี กล่าวอีกว่า โดยปกติในการให้การรักษาผู้ป่วยเด็กที่พบเชื้อไข้เลือดออกที่มีร่างกายแข็งแรง กุมารแพทย์จะให้ยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ น้ำเกลือแร่ลดอาการขาดน้ำ และให้ผู้ปกครองดูอาการที่บ้านก่อนในช่วงแรก แล้วจึงค่อยนัดมาติดตามอาการที่ รพ.เพื่อเจาะเลือดตรวจ ว่าจะมีโอกาสเกิดเลือดออก หรือภาวะช็อกหรือไม่อีกครั้งในวันที่ไข้นานเกิน 3-5 วัน หรือถ้าหลังไข้ลด ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย กินไม่ได้ ปัสสาวะออกน้อย หรือมีอาการเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ
พญ.โรจนี กล่าวต่อว่า เมื่อมีอาการทรุดลง ทีมกุมารแพทย์ พร้อมรับมือแก้ไขสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมาได้พยายามผลิตนวัตกรรมในการตรวจหาเชื้อไข้เลือดออก เช่น วิธีตรวจจากปัสสาวะเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีข้อจำกัดในการเจาะเลือด
พญ.โรจนี กล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกกำลังเข้าใกล้ความจริง หลังจากที่ผ่านมาไม่นานนี้ ม.มหิดลได้ประกาศความสำเร็จจากการคิดค้นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์ในเข็มเดียวกัน เพื่อให้สามารถฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันได้ยาวนานถึง 5 ปี โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตให้สามารถใช้จริงได้อย่างปลอดภัยได้ต่อไป
พญ.โรจนี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องช่วงอายุของกลุ่มเสี่ยง ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลักดันสู่นโยบายที่จะกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับคนไทยในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันพบว่าช่วงอายุการระบาดของโรคไข้เลือดออกไม่ได้อยู่ที่วัยเด็กเช่นที่ผ่านมา แต่เริ่มพบในผู้ป่วยในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมากขึ้น
“การกำจัดต้นตอของปัญหา คือ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดเนื่องจากเป็นพาหะของโรค ที่สำคัญที่สุดควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็ก ควรระวังไม่ให้มีน้ำหนักเกินจนอยู่ในภาวะอ้วน จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะรุนแรงเมื่อต้องติดเชื้อไข้เลือดออก” พญ.โรจนี กล่าว
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ