28 พ.ค.2566 รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า เมื่อ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังได้ลงนามประกาศกฏกระทรวงกำหนดอัตราพิกัดภาษีสรรพสามิตดีเซลโดยกำหนดที่จะไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตรออกไปโดยจะสิ้นสุดวันที่ 21 ก.ค.2566
เนื่องจากให้รอรัฐบาลใหม่มาพิจารณาเพราะว่าด้วยเรื่องของงบประมาณการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตที่หายไปด้วย
โดยที่ผ่านมามาตรการการลดภาษีดีเซลที่ผ่านมารวม 7 ครั้ง กระทบรายได้รัฐ 158,000 ล้านบาท ดังนี้ วันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.2565 (3 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 3 บาท รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท วันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
วันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท วันที่ 21 พ.ย.2565-20 ม.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาทรัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท วันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค.2566 (4 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาทและ วันที่ 21 พ.ค. – 20 ก.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท
นายวิศักดิ์ วัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) กล่าวว่า สกนช.คงจะต้องหารือกับทุกฝ่ายเพื่อที่จะวางแนวทางในการรับมือหลังสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตในวันที่ 21 ก.ค.นี้
อย่างไรก็ตามขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถจัดเก็บเงินจากดีเซลเข้าสะสมในกองทุนน้ำมันฯเฉลี่ยราว 5 บาทต่อลิตร ดังนั้นคงจะต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นสำคัญ
“เมื่อสิ้นสุดมาตรการลดภาษีดีเซลถึงตอนนั้นต้องดูหลายปัจจัยสำคัญทั้งราคาตลาดโลกเป็นเช่นไร เงินกองทุนฯที่เก็บจากดีเซล ภาระหนี้ของกองทุน ดังนั้นจึงยังพอมีเวลาแต่อย่าตกใจว่าราคาจะขึ้นทันที 5 บาทต่อลิตรไม่ใช่อย่างที่บอกต้องอยู่กับปัจจัยต่างๆ ณ วันนั้นด้วย”นายวิศักดิ์กล่าว
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ