“ก้าวไกล” ดัน “เลือกตั้งผู้ว่าฯ” ภายใน 4 ปี เชื่อกระจายอำนาจได้ แม้ไม่คุม มท.





1 มิถุนายน ที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือและรับฟังข้อเสนอแนะในการกระจายอำนาจกับสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า เป็นการหารือร่วมกันระหว่างพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และ 3 สมาคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อหารือในการอำนวยความสะดวกกับผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เป็นการกระจายความเจริญไปสู่แต่ละท้องที่ภายในประเทศไทย มีการพูดคุยเรื่องแผนงานในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลว่าภายใน 100 วันแรกหลังมีรัฐบาลใหม่จะทำอย่างไร ทั้งคำสั่งที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นทำตามศักยภาพและนำปัญหาของประชาชนมาเป็นที่ตั้ง และมีสิ่งใดที่พรรคก้าวไกลจะสามารถช่วยปลดล็อกการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้

นายพิธากล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยกันว่าในช่วง 1 ปี และ 4 ปีจะมีเรื่องใดที่สามารถร่วมกันทำได้ รวมถึง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านประชามติของประชาชน หลังจากนี้จะมีการประชุมร่วมกันและทำเวิร์กช็อปในวันที่ 15-16 มิถุนายน โดยสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพพูดคุยเรื่องรายละเอียดกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยในการบริหารจัดการในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อถามว่า มีข้อเสนอใดที่สมาคมเสนอมา หากไม่สามารถทำได้ใน 1 ปีแรก นายพิธากล่าวว่า คิดว่าไม่มีอะไรท้าทายเกินความต้องการของประชาชนที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งอะไรที่ต้องทำอย่างรวดเร็วและรอบคอบ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม หากแบ่งได้แบบนั้นจะทำให้รู้ว่าอะไรที่สามารถทำได้ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และเรื่องใดต้องทำประชามติก่อน หรือต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน แบบนี้ถ้าเราแบ่งเป็นระยะๆ ใครที่กังวลว่าการกระจายอำนาจการเลือกตั้งผู้ว่าฯเป็นเรื่องที่สุดโต่งจะได้เข้าใจและสบายใจว่าการทำทั้งหมดนี้เป็นการกระจายความเจริญไปสู่ประชาชนได้เร็วที่สุด

เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พรรคก้าวไกลจะดำเนินการอย่างไร นายพิธากล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งของการทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หากฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเรื่องการจัดสรรงบประมาณการจัดการในแต่ละพื้นที่ก็คงเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ถามอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะวางกรอบให้ท้องถิ่นเป็นอิสระจากส่วนกลางหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า การกระจายอำนาจต้องมีงบประมาณ มีภารกิจ การกระจายบุคลากร ดังนั้น ต้องรอบคอบ ยกตัวอย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีการกระจายภารกิจกับบุคลากร แต่ทรัพยากรกับงบประมาณไม่ได้ตามลงมาด้วย ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้ การบริหารจัดการเรื่องการกระจายอำนาจต้องมีอิสระในการทำงานมากขึ้น มีอิสระในการบริหารการเงินมากขึ้น ถึงจะทำให้การบริการประชาชนดีมากขึ้น

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: