3 มิถุนายน ที่หอประชุมพระบรมราชสมภพ 200 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 วัดสุทธจินดาวรวิหาร อ.เมือง จ.นครราชสีมา ครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดสถานศึกษาในพื้นที่ 32 อำเภอ ของ จ.นครราชสีมา จำนวน 210 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครูบำนาญที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้สิน ร่วมประชุมกับเครือข่ายประชาชนแก้หนี้สินแห่งประเทศไทย
ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างการรับรู้ทำความเข้าใจ 5 เรื่อง คือ 1.รู้จักตนเอง 2.รู้เท่าทันสหกรณ์และสถาบันการเงิน 3.เครื่องมือระเบียบ ปี 2551 4.ระบบและกลไกเพื่อการขับเคลื่อน 5.เป้าหมายชีวิต
นายสมพูล วรรณทอง ผู้แทนเครือข่าย ปชช.แก้หนี้สินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดเวทีให้ความรู้และหาทางออกปัญหาหนี้สินมีสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการหักเงินเดือนไม่เป็นไปตามข้อกำหนด 30 %
ขณะนี้มีครู 900,000 คน จากจำนวน 1,400,000 คน ทั่วประเทศ ประสบปัญหา 30 % ทิพย์ ต้องเฉลี่ยหนี้ให้ลูกหนี้สามารถดำรงอยู่ได้ โดยจัดสรรเงินเดือน 70% ใช้หนี้ เพื่อให้เหลือเงิน 30 % ความเป็นจริงสหกรณ์ครูและสถาบันการเงินหักไปหมด
หากปล่อยปละละเลยจะมีครูเข้าสู่กระบวนการถูกฟ้องล้มละลายนำไปสู่การขายทอดตลาด ทั้งที่ดินและสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อชำระหนี้สิน ดังนั้นรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก ชะลอการฟ้องและการขายทอดตลาด ดำเนินการคู่ขนานเจรจาไกล่เกลี่ยนำไปสู่การฟื้นฟูและเฉลี่ยชำระหนี้สินอย่างเป็นธรรม
นางอรณี กระจ่างโพธิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนครูสู้คดี เปิดเผยว่า คำพิพากษาศาลปกครอง วันที่ 26 กันยายน 2562 ให้ครูใช้หนี้จากแหล่งเงินกู้ต่างๆ 70 % และเหลืออีก 30 % เป็นเงินค่าครองชีพ ความเป็นจริงสหกรณ์ครูและสถาบันการเงินไม่ได้ยึดถือข้อปฏิบัติได้หักเงินเดือนตั้งแต่ต้นทางทำให้หลายรายเงินเดือนติดลบ เสมือน 30 % ทิพย์ ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ยกเป็นปัญหาระดับชาติและสรรหาผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ทุเลาลง จะทำให้ให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทุ่มเทการสอนได้อย่างเต็มความสามารถ
นายสมปอง อินทรสอน ข้าราชการครูบำนาญ กล่าวว่า ขณะนี้มีเพื่อนครูในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ประมาณ 2,300 คน อยู่ระหว่างสถาบันการเงินยื่นฟ้องเป็นบุคคลล้มละลายและอยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องชดใช้หนี้สินแทน น่าเป็นห่วงกลุ่มที่ยังรับราชการหากไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขต้องถูกให้ออกจากราชการ เมื่อเกษียณราชการ เงินที่ได้จากตำแหน่งและวิทยฐานะถูกตัดออกรวมทั้งหักเงินชำระหนี้ ทำให้เงินที่ได้รับไม่ถึง 30 % รัฐบาลต้องแก้ไขปรับเปลี่ยนข้อกฎหมาย เช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่จำเป็นต้องมีแหล่งเดียว ถือเป็นการผูกขาดและเป็นแหล่งขุมทรัพย์รวมทั้งพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม
นางโสภา จันทฉายา อดีตครูผู้สอนโรงเรียนประถมชื่อดัง ยินดีต้องการเปิดเผยชีวิตความเป็นอยู่ ว่า สถานะมีหนี้สินร่วม 4 ล้านบาท ยังไม่รวมหนี้จากการค้ำประกันในกลุ่มเพื่อนครูโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูของสถาบันการเงิน ซึ่งต้องจับกลุ่มรวมกัน 5 คน ล่าสุดถูกฟ้องล้มละลาย 2 คน ทำให้ผู้ค้ำถูกร่างแหเฉลี่ยต้องชดใช้หนี้แทนประมาณ 1 ล้านบาท
ขณะนี้อยู่ขั้นตอนของการบังคับคดี ส่วนสามีเสียชีวิตเมื่อ 15 ปี ที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมีรายได้เดือนละ 6-7 พันบาท จากการเพาะพันธุ์ขายไม้ด่างที่ตลาดนัดรวมทั้งสอนพิเศษ ซึ่งดูแลแม่อายุ 87 ปี ลูกชายพิการติดเตียงรวมทั้งหลานประสบอุบัติเหตุจนพิการเป็นภาระต้องเลี้ยงดูทั้งหมด 4 ชีวิต อาศัยเบี้ยคนพิการแบ่งเบาภาระ
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ