กทม.สั่งเก็บถังคาร์บอนฯทั้งหมด ยุติซ้อมดับเพลิง จนกว่าอุปกรณ์จะปลอดภัย





24 มิถุนายน ที่ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีถังดับเพลิงระเบิดเมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.)

น.ส.ทวิดากล่าวว่า กทม.ให้หยุดฝึกซ้อมดับเพลิงตามหน่วยงานทั้งหมดไปก่อนจนกว่าอุปกรณ์จะได้รับการตรวจสอบความปลอดภัย โดยถังที่เกิดเหตุเมื่อวานเป็นถังที่บรรจุคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีการเรียกเก็บออกจากสถานีดับเพลิงทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ ไม่ใช่ถังแดงที่อยู่ตามชุมชน หรือตามสถานที่ต่างๆ ที่ภายในถังบรรจุเคมีแห้งสำหรับการดับเพลิง

สำหรับสัปดาห์หน้าให้สถานีดับเพลิง สำนักงานเขต ร่วมกับประธานชุมชน ลงตรวจถังแดงทุกชุมชน โดยจะมีการเก็บถังเก่าออก ส่วนถังที่มีมาตรฐานจะมีการเติมสารเคมี พร้อมกับออกขั้นตอนให้มีการตรวจสอบถังเบื้องต้น เช่น การดูระดับความดัน ดูสภาพถัง สายฉีด หากพบสิ่งผิดปกติสามารถแจ้งสำนักงานเขต หรือแจ้งผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ได้

“ทาง กทม.จะทบทวนการฝึกซ้อมใหม่ เป็นการฝึกซ้อมแห้ง โดยเฉพาะในสถานศึกษา ซึ่งจะไม่มีการฉีดพ่น ไม่มีสารเคมี ไม่มีแรงดัน ไม่ให้มีการฝึกซ้อมในพื้นที่คับแคบ ต้องมีการเว้นระยะ เปิดสื่อวีดิทัศน์แทนการปฏิบัติจริง สนับสนุนชุดป้องกันระหว่างซ้อม หรือนักเรียนสามารถติดตามการซ้อมได้บนชั้น 2-3 ของอาคารเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในการใช้มาตรฐานรวมร่วมกันในการตรวจสอบอุปกรณ์” น.ส.ทวิดากล่าว

น.ส.ทวิดากล่าวว่า ยอมรับว่ามีถังดับเพลิงนอกเหนือการจัดซื้อตามงบประมาณ กทม.จริง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการฝึกซ้อม แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ถูกดำเนินคดีอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย และรอรายละเอียดจากฝ่ายพิสูจน์หลักฐาน เพื่อยืนยันสาเหตุระเบิดและข้อเท็จจริงต่อไป จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ไม่เคยเกิดเหตุระเบิดลักษณะนี้มาก่อน ส่วนการเยียวยาเบื้องต้นตามระเบียบของ กทม.ผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยา 29,700 บาท ส่วนผู้บาดเจ็บรายละ 4,000 บาท โดย กทม.รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า ถังคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดเหตุเมื่อวานนี้มีความดันอยู่ที่ 800 PSI ส่วนถังแดงทั่วไปมีความดันอยู่ที่ 190 PSI ทั้งนี้ ไม่ให้นำถังส่วนตัวมาฝึกซ้อมอีก ต้องใช้ถังที่จัดซื้อตามระเบียบราชการที่ได้มาตรฐาน ต้องมีการทดสอบทุก 5 ปี ทดสอบด้วยการอัดแรงดันไฮโดรสแตติก พร้อมทำการระบุตำแหน่งของถัง (จีพีเอส) ระบุในแผนที่จุดเสี่ยง สามารถตรวจสอบสิ่งต่างๆ ได้ รวมถึงการตรวจสอบถังออกซิเจนที่มีแรงดันถึง 4,000 PSI ด้วย

ส่วนการสร้างความมั่นใจกับชาวบ้านเรื่องถังแดง นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องเริ่มสื่อสารไปที่ประธานชุมชน แล้วให้ประธานสื่อสารต่อไปยังชาวบ้านอีกที เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดกัน

“สารเคมีแห้งในถังไม่ได้อันตรายเหมือนกับคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะมีแรงดันต่ำกว่าเยอะ และมีตัวเกจ์วัดติดตั้งชัดเจน” นายชัชชาติกล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: