5 กรกฎาคม ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินทางเข้ามาร่วมประชุมกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ชั้น 10 ห้องประชุมประธานสภา เพื่อเตรียมความพร้อม ในการรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้นยังมี ส.ส.ของพรรคประชาชาติทั้งหมด เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย
จากนั้น เวลา 12.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ให้สัมภาษณ์ว่า ระหว่างที่ตนรอการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานสภา ได้เชิญเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร รองเลขาธิการสภา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการในเรื่องรับสนองพระบรมราชโองการฯ ซึ่งอาจจะเป็นช่วง 1-2 วันนี้ และเตรียมการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และประชุมร่วมรัฐสภา โดยกำหนดว่าหากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว จะประชุมสภานัดแรกในวันที่ 12 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระเพียงให้ ส.ส.ที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตนได้ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งจะปรึกษาหารือกันว่าจะประชุมสภาแต่ละสมัยจำนวนกี่วัน และวันไหนบ้าง แม้ที่ผ่านมามีการจัดให้มีการประชุมในวันพุธ และวันพฤหัสบดีก็ตาม ก็ต้องขอความเห็นในที่ประชุมอยู่ดี
นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม เวลา 09.30 น. ซึ่งได้มีการหารือกับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เรียบร้อยแล้ว โดยทางสำนักงานเลขาธิการสภา จะออกหนังสือเชิญสมาชิกทั้งสองสภามาประชุมร่วมกัน
เมื่อถามว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีในส่วนของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและเคนดิเดตนายกฯจากพรรคก้าวไกล ที่มีแนวโน้มว่าจะโหวตไม่ผ่าน ประธานจะให้มีการโหวตกี่ครั้ง นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า จำนวนครั้งคงพูดไม่ได้เพราะครั้งเดียวอาจจะผ่านก็ได้ คือได้ 376 เสียง แต่ถ้าไม่ครบก็ต้องพิจารณาการประชุมในรอบต่อไป และต้องวิเคราะห์ดูว่าคะแนนที่ได้มีจำนวนเท่าไหร่ถึงจะครบ 376 เสียง และหากฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะขอเวลาในการประชุมกี่ครั้ง แต่โดยสรุปคือรัฐสภาต้องประชุมให้ได้นายกฯ ไม่ใช่นายพิธาคนเดียว หากนายพิธาได้ก็ถือว่าได้ไป แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรี เพราะรัฐสภามีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไปบริหารประเทศ เราจะขาดนายกฯไม่ได้
“ในเบื้องต้นผมพูดอย่างเป็นกลาง คือ ส.ส.ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมายและพิจารณางบประมาณนั้น เขาได้ร่วมกันที่จะตั้งรัฐบาลแล้ว 312 เสียง ซึ่งเมื่อวาน (4 ก.ค.) ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการเลือกรองประธานคนที่ 1 ได้คะแนน 312 เสียง อันนี้ก็จะเป็นหลัก แต่การเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เสียงข้างมาก 312 เสียงแล้วจะได้เป็นเพราะต้องได้ 376 เสียงเป็นอย่างน้อย ซึ่งยังขาดอีก 64 คะแนน และหากไม่ได้ก็ต้องโหวตให้ได้ 376 เสียง และหากวันแรกไม่สามารถถือว่าการประชุมวันนั้นต้องจบ และนัดโหวตนายกฯในนัดครั้งต่อไป โดยจะต้องคำนึงความพร้อมของสมาชิกในการเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อให้ทุกคนเข้าร่วมประชุมอย่างครบถ้วน ผมเชื่อมั่นว่าหากเราทำอะไรด้วยความเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสิ่งนั้นจะบรรลุเป้าหมาย” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
เมื่อถามว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลยังยืนยันที่จะเสนอชื่อนายพิธาจะให้มีการประชุมอีกหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ แต่เบื้องต้นต้องเป็นคนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดคุณสมบัติครบถ้วน แต่ถ้าหากว่า รายชื่อทั้งหมดที่ส่งไปยัง กกต.ยังไม่ผ่านก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดว่าให้รัฐสภาเสนอคนนอกได้ แต่ก็เป็นขั้นตอนที่ยาว เพราะรัฐสภาต้องมีเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ที่เห็นว่า ควรจะให้เสนอคนนอกเข้ามาโหวตในสภาได้ ซึ่งต้องได้เสียง 376 เสียงก็ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ตนคิดว่า เราไม่สามารถที่จะไปคาดเดาได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องมีนายกรัฐมนตรี และเป็นนายกฯที่บริหารประเทศต่อไปได้
เมื่อถามว่า ประธานจะดูปัจจัยคำมั่นสัญญาของ 8 พรรคร่วมที่จะดันนายพิธาให้ถึงที่สุดหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลได้ตกลงใจร่วมกันว่าจะสนับสนุนหัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมากที่ได้รับการเลือกตั้งมาเมื่อวันที่ 14 พ.ค.โดยเป็นข้อตกลงของ 8 พรรค แต่รัฐสภาก็ต้องทำหน้าที่ในการเลือกนายกฯ เพราะการโหวตเป็นเรื่องของรัฐสภาที่มี ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง หากเฉพาะสภาผู้แทนฯอย่างเดียวก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะ 312 เสียงถือว่าเกินครึ่งไปเยอะแล้ว
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ