กกต.ชี้แจง คดีเอาผิด “พิธา” ม.151 ยังไม่เสร็จสิ้น ยืนยันไม่ได้กลั่นแกล้งทางการเมือง





16 สิงหาคม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงข้อมูลที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง ระบุว่า ตามที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์ข้อความว่าคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต.มีมติยกคำร้องในคดีอาญา มาตรา 151 ตามข้อกล่าวหาว่า รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จากกรณีที่เป็นข่าวว่านายพิธาเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ กกต. จึงได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน เพื่อพิจารณาว่าฝ่าฝืนมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 หรือไม่ประการใดนั้น

กกต.ขอชี้แจงว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 3 ราย ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงาน กกต.กล่าวหาว่านายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น อันเป็นกิจการสื่อมวลชน เชื่อว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่คำร้องดังกล่าวยื่นเกินกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติ กกต.จึงมีมติสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวทั้งหมดไว้พิจารณา แต่เมื่อ กกต.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า รายละเอียดที่ปรากฏตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของผู้ยื่นคำร้องมีเหตุอันควรเชื่อว่านายพิธาอาจจะเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยมีเหตุอันควรสงสัย หรือความปรากฏ จึงได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนให้เป็นไปตามมาตรา 151 ว่านายพิธากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ประการใด

ขณะนี้การดำเนินการสืบสวนไต่สวนยังไม่เสร็จสิ้นและได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ โดยอยู่ระหว่างกระบวนการสืบสวนไต่สวนเป็นไปตามลำดับชั้นตามระเบียบและกฎหมาย หลังจากนั้นจะได้นำเสนอข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและความเห็นต่อ กกต.ให้เป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไป

โดยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2566 กกต.ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ทำให้นายพิธามีสมาชิกภาพเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่ปรากฏว่า กกต.ได้พิจารณามีข้อเท็จจริงและมีเหตุอันควรสงสัย หรือความปรากฏ เชื่อได้ว่านายพิธาอาจเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามมาตรา 98 (3) อันเนื่องมาจากการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) อาจมีผลทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธาต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้น จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ข้อกฎหมาย และความเห็น เสนอต่อ กกต.ให้พิจารณาสั่งการต่อไป

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเห็นว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายพิธาอาจมีเหตุสิ้นสุดลง จึงเสนอความเห็นต่อ กกต.ให้มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้เป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 82 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่อไป

กกต.ขอชี้แจงว่า คณะกรรมการตามที่ได้รับแต่งตั้งจาก กกต. จำนวน 2 คณะ เป็นผู้ที่มีหน้าที่และอำนาจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยมีความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงภายใต้การบังคับบัญชาซึ่งกันและกัน

ดังนั้น คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนจะมีความเห็นเป็นเช่นใด ถือได้ว่าเป็นดุลพินิจแห่งตนโดยแท้ อันเป็นความเห็นเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสืบสวนและไต่สวนเท่านั้น โดยจะมีกระบวนการและขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบสืบสวนไต่สวนอีกหลายขั้นตอน กระบวนการดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด หลังจากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายแล้วจะนำเสนอความเห็นต่อ กกต.พิจารณาในลำดับสุดท้าย

การพิจารณาเสนอความเห็นว่า นายพิธากระทำความผิดตามมาตรา 151 หรือไม่ กกต.จะต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ประกอบการตัดสินใจที่จะดำเนินคดีอาญากับนายพิธาหรือไม่ประการใด อันเป็นหลักประกันว่าบุคคลจะได้รับโทษในทางอาญา เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถนำพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย มาต่อสู้และหักล้างข้อกล่าวหาได้ทุกประเด็น

สำหรับการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธามีเหตุต้องสิ้นสุดลง เป็นการดำเนินการตามมาตรา 82 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นระบบไต่สวน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้อำนาจดังกล่าวที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและแสวงหาพยานหลักฐานจากแหล่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง กกต.ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการให้คดีที่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปในทางหนึ่งทางใดตามที่ กกต.ต้องการ

ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่านายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประการใด ย่อมส่งผลโดยตรงต่อสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายพิธาเฉพาะตน โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร

ดังนั้น กระบวนการในการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 ต่อนายพิธา จึงยังไม่เสร็จสิ้น หรือมีผลเป็นที่สุดเด็ดขาด กกต.จึงไม่ได้กลั่นแกล้ง หรือจงใจที่จะทำให้นายพิธาต้องได้รับโทษตามกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

การนำข้อมูลมาเสนอต่อสาธารณชน อันอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดว่ากระบวนการตามมาตรา 151 เป็นกระบวนการเดียวกันกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 82 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวดังกล่าวข้างต้น

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: