22 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านเชิงรุกตามแบบของตน ว่า หากเปรียบเป็นฟุตบอล จะมีผู้เล่นมากถึง 14 ล้านคนที่จะร่วมทำงานกับ ก.ก. ซึ่งเราก็พร้อมที่จะร่วมทำงานกับภาคประชาชนอย่างแข็งขัน ในฐานะที่เป็นพรรคที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่พรรคเป็นเจ้าของประชาชนในแบบเดิม การทำงานแนบแน่นกับประชาชนก็ทำให้การทำหน้าที่ด้านต่างๆ ได้ทันท่วงทีขึ้น สิ่งที่เราตั้งใจมาก คือการแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยที่เป็นต้นเหตุของการคอร์รัปชั่น ตนคิดว่าไม่น่าจะมีพรรคการเมืองใดให้ความสำคัญกับอำนาจนิติบัญญัติในลักษณะนี้
“แต่ประโยคนั้นมันก็จึ้กอ่ะ รู้สึกจึ้กหัวใจ ตกลงแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชนเพื่อปลดแอกอำนาจของเผด็จการ ที่รังสรรผ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 ตกลงเป็นเพียงแค่การหาเสียงจริงๆ เหรอ” นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นคนที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเป็นฉบับประชาชนเท่านั้นเอง แต่หากโครงสร้างการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการเกรงใจกับคำสั่งขององค์กรใดๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากเผด็จการ คิดว่าประชาชนคงรับไม่ได้หรอก ส่วนจะแก้อะไรตนก็ตอบไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน ว่าเขาต้องการอย่างไร และร่างรัฐธรรมนูญภายใต้กรอบของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมื่อถามว่า มีอะไรจะฝากถึงประชาชนที่เลือกพรรค ก.ก. และรู้สึกผิดหวังหรือไม่ นายวิโรจน์กล่าวว่า ตนคิดว่าคนที่เลือกพรรค ก.ก. ไม่ผิดหวัง เพราะเราทำตามทุกอย่างที่เคยพูด ถ้าจะผิดหวังคือการพูดอย่างแล้วทำอีกอย่าง หาข้อแก้ตัว ชักแม่น้ำทั้งห้ามากกว่า ต้องเรียกว่าไม่สมประสงค์ดีกว่า แต่ก็ยังให้กำลังใจและจับมือเดินกันต่อไป
เมื่อถามว่า ภายหลังสิ้นสุดการโหวตนายกฯ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. ได้ส่งสัญญาณอะไรมาหรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า เรายังไม่มีโอกาสได้คุยกัน แต่ก็คงจะมีโอกาสได้พูดคุยกันอีกที
เมื่อถามว่า การเดินทางกลับมาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สื่อถึงนัยทางการเมืองหรือไม่ นายวิโรจน์กล่าวว่า มันก็คงจะสื่อบ้าง ถ้าจะบอกว่าไม่มีนัยสำคัญอะไรเลยก็คงไม่ได้ แต่ตนยังยืนยันเหมือนเดิมว่า สิ่งที่นายทักษิณโดนกระทำไปเมื่อ 10 ปีก่อนไม่ยุติธรรมแน่ๆ ซึ่งนายทักษิณก็ควรได้รับความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมที่นายทักษิณได้รับ ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ก็ควรจะต้องได้รับเช่นเดียวกัน ทุกคนควรได้รับความยุติธรรม ไม่ใช่ได้รับเพียงบางคน มันไม่เรียกว่าความยุติธรรม แต่เรียกว่าสิทธิพิเศษ
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ