26 สิงหาคม นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ออกเเถลงการณ์สมาคมว่า
ตามที่ได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เป็นการเลือกปฏิบัติ และอดีตนายกทักษิณมีอภิสิทธิ์มากกว่าผู้ถูกจับรายอื่น นั้น
ผมขอเสนอความเห็นทางกฎหมายที่บัญญัติคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับไว้ ดังนี้
(1) การเดินทางกลับประเทศไทยครั้งนี้ อดีตนายกทักษิณตัดสินใจเดินทางกลับด้วยตนเอง จึงไม่มีเจตนาจะหลบหนีและมิได้ขัดขวางการจับกุม ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้ใช้เครื่องพันธนาการจึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการจับนั้น”
(2) การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาตให้อดีตนายกทักษิณได้พบปะกับญาติและประชาชนที่เดินทางมาต้อนรับ เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 83 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ถ้าผู้ถูกจับมีความประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุม ซึ่งไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี”
(3) ในการควบคุมตัวอดีตนายกทักษิณไปศาลและเรือนจำโดยมีขบวนรถยนต์คุ้มกันหลายคันนั้น เป็นไปตามมาตรา 83 วรรคแรก และมาตรการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากอดีตนายกทักษิณเป็นนักการเมืองที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน อีกทั้งวันดังกล่าวมีผู้ไปต้อนรับเป็นจำนวนมาก การที่เจ้าหน้าที่ใช้ขบวนรถยนต์รักษาความปลอดภัยหลายคันจึงสมควรแก่กรณี
ดังนั้น การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการจับอดีตนายกทักษิณ เพื่อนำตัวไปศาลและเรือนจำ จึงชอบด้วยวิธีการจับตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทุกประการ มิได้เป็นการเลือกปฏิบัติหรือให้สิทธิ แก่อดีตนายกเกินเลยจากที่กฎหมายบัญญัติไว้
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ