เคสแรกของโลก! แพทย์พบพยาธิตัวกลม “ตัวเป็นๆ” ยาว8ซม. ในสมองคนไข้หญิงวัย64





เหตุเกิดขึ้นที่ออสเตรเลีย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) และโรงพยาบาลแคนเบอร์รา ค้นพบกรณีการติดเชื้อปรสิตใหม่ในมนุษย์รายแรกของโลก หลังจากที่ตรวจพบพยาธิตัวกลมขนาด 8 เซนติเมตรที่ยังมีชีวิตอยู่ในสมองของหญิงวัย 64 ปี

คารินา เคนเนดี้ ผู้อำนวยการฝ่ายจุลชีววิทยาคลินิกกล่าวว่าอาการของเธอเริ่มครั้งแรกในเดือนมกราคม 2021 โดยแพทย์ได้รักษาหญิงวัย 64 ปีรายนี้ด้วยสเตียรอยด์และยาอื่น ๆ สำหรับอาการปวดท้องและท้องร่วงนาน 3 สัปดาห์ ตามมาด้วยอาการไอแห้ง, มีไข้, หายใจลำบาก และเหงื่อออกตอนกลางคืน

จนกระทั่งปี 2022 เธอเริ่มประสบกับการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในความจำและการประมวลผลความคิด พร้อมมีอาการซึมเศร้าและหลงลืม แพทย์จึงสั่งให้เข้ารับการสแกนสมองด้วยการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งแสดงให้เห็นรอยโรคที่ผิดปกติภายในกลีบสมองส่วนหน้าด้านขวา ทำให้แพทย์แนะนำให้ทำการผ่าตัด

รองศาสตราจารย์ ดร. ซานจายา เสนานายาเก ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อได้รับโทรศัพท์จากศัลยแพทย์คนหนึ่งโทรหาเขาและพูดว่า “โอ้พระเจ้า คุณคงไม่เชื่อสิ่งที่ฉันเพิ่งพบในสมองของผู้หญิงคนนี้และมันยังมีชีวิตอยู่” สิ่งที่ศัลยแพทย์ระบบประสาทที่โรงพยาบาลแคนเบอร์รา ตรวจดูความผิดปกติ คือ พยาธิตัวกลมสีแดงสดขนาด 8 เซนติเมตรที่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญด้านปรสิตวิทยาว่า คือ พยาธิ Ophidascaris robertsi ซึ่งยังมีชีวิตอยู่และดิ้นไปมา

สิ่งที่ทำให้การค้นพบนี้แปลกยิ่งขึ้นไปอีก เพราะพยาธิตัวกลม Ophidascaris robertsi มักพบในงู ไม่ใช่ในมนุษย์ โดยทั่วไปมันจะอาศัยอยู่ในหลอดอาหารและกระเพาะของงูเหลือม และทิ้งไข่ลงในอุจจาระของงูเหลือม ซึ่งทางด้านแพทย์ไม่แน่ใจว่า ปรสิตงูเข้าไปในร่างกายของผู้หญิงได้อย่างไร เธอไม่ได้สัมผัสโดยตรงกับงูใด ๆ แต่เธออาศัยอยู่ใกล้ทะเลสาบ ซึ่งมีงูอยู่มากมาย

“ตามความรู้ของเรา นี่เป็นกรณีแรกที่เกี่ยวข้องกับสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรืออย่างอื่น โดยปกติตัวอ่อนของพยาธิตัวกลมจะพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง ซึ่งงูหลามกินเข้าไป ซึ่งทำให้วงจรชีวิตสมบูรณ์ในงู”

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ไข่ปรสิตอาจอยู่บนหญ้าพื้นเมืองที่กินได้บางชนิด ที่เรียกว่า ผักโขมนิวซีแลนด์ ซึ่งผู้ป่วยหญิงรายนี้มาจากทางตะวันออกเฉียงใต้ของนิวเซาธ์เวลส์ในออสเตรเลียอาจเก็บมาทำอาหารและอาจติดเชื้อปรสิตโดยตรง

เนื่องจากไม่เคยมีมนุษย์คนใดได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อปรสิตนี้มาก่อน แพทย์จึงต้องปรับยาของผู้ป่วยอย่างระมัดระวังเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อรักษาอาการของเธอ ร.ศ. ดร. ซานจายาเผยว่า “การติดเชื้อ Ophidascaris นี้ ไม่ได้แพร่เชื้อระหว่างคน ดังนั้น กรณีของผู้ป่วยรายนี้จะไม่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ เช่น โควิด-19 หรืออีโบลา” ตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ผู้ป่วยหญิงรายนี้อาการดีขึ้นแล้ว แม้ว่าจะยังมีอาการอยู่บ้างก็ตาม

การติดเชื้อครั้งแรกที่ไม่เหมือนใครนี้ตอกย้ำถึงอันตรายของโรคและการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน หมายความว่าโรคที่เคยพบเฉพาะในสัตว์ป่าเท่านั้นอาจกำลังเคลื่อนเข้าสู่ประชากรมนุษย์อย่างรวดเร็ว “จากการติดเชื้ออุบัติใหม่ทั่วโลก ประมาณ 75% เป็นโรคจากสัตว์สู่คน ซึ่งหมายความว่ามีการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่มนุษย์ได้ง่ายกว่าที่คิด ซึ่งรวมถึงโคโรนาไวรัสด้วย” ร.ศ. ดร. ซานจายากล่าว

รองศาสตราจารย์คารินา เคนเนดี้ กล่าวว่า “ผู้ที่ทำสวนหรือหาอาหารควรล้างมือหลังทำสวนและสัมผัสผลผลิตที่เป็นอาหารสัตว์ อาหารใดๆ ที่ใช้ทำสลัดหรือปรุงอาหารควรล้างให้สะอาด รวมถึงพื้นผิวห้องครัวและเขียง เช็ดและทำความสะอาดหลังการใช้งาน”

 

ข้อมูลจาก Neurosciencenews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: