6 กันยายน ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนาศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยฝ่ายบริหาร ส.ก.ทั้ง 50 เขต เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566
ทั้งนี้ ในช่วงต้นของการประชุม ดร.จอห์น สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก. เขตลาดกระบัง และ นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณประเภทลงทุน (ค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ประจำปีงบประมาณ 2567 ของหน่วยรับงบประมาณ สำนักการศึกษา ส่วนราชการ สำนักงานเลขานุการ เพื่อปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น โรงเรียนชั้นอนุบาล สังกัด กทม. โดยตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณที่ขอเพื่อใช้ติดเครื่องปรับอากาศ ว่าไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ โดยห้องเรียนขนาด 20 ตรม. ติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาด 30,000 บีทียู ห้องละ 2 ตัว
จากนั้น นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวชี้แจงว่า ขอบพระคุณสำหรับทุกความเห็นที่มีประโยชน์ ก็จะน้อมรับได้ปรับปรุงในอนาคต ในการเสนองบประมาณเข้าสู่สภากทม. ต่อไป
ตนขอกราบเรียนสั้นๆ เรื่องหลักการและเหตุผล ความจริงแล้ว เรื่องนี้ก็อยู่ในนโยบายหมายเลข 048 จาก 216 นโยบายของเรา คือการจัดพื้นที่ปลอดฝุ่นให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเด็กอายุ 1-6 ขวบ ก็เป็นกลุ่มเปราะบาง เพราะเป็นช่วงชีวิตที่มีการพัฒนาการของสมองรวดเร็วที่สุด มากที่สุด เป็นจุดสำคัญที่จะสร้างทรัพยากรให้มีคุณค่าในอนาคต
“หลายครั้งที่เราละเลยเด็กกลุ่มนี้ไป กลายเป็นว่าการพัฒนาไม่เต็มที่ ก็จะทำให้การพัฒนาช่วงต่อไปมันช้าลง เด็กกลุ่มนี้มีปัญหาอย่างหนึ่งคือ ใส่หน้ากากยาก เพราะเป็นเด็กเล็ก ดังนั้นการสอนให้ใส่หน้ากาก ก็จะลำบากมากขึ้น แล้วก็ต้องนอนกลางวันช่วงบ่าย บางโรงเรียนก็โชคดีมีห้องแอร์ให้เด็กนอนกลางวัน เด็กก็จะนอนหลับได้สนิท มีห้องที่ปิดล็อก” นายชัชชาติกล่าว และว่า
ดังนั้น ตนจึงคิดว่าแนวคิดที่เราทำห้องเรียนปลอดฝุ่น มีเครื่องปรับอากาศ ก็ด้วยแนวคิดนี้ ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนมาก ก็คือเน้นกลุ่มเด็กเปราะบาง
นายชัชชาติกล่าวอีกว่า หลายครั้งที่เราไปที่โรงเรียน ก็เห็นเด็กที่อยู่ในห้องร้อนๆ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ฝุ่นมา ก็ต้องมีหน้ากากใส่
“เราก็มานั่งคิดว่า ทำไม ห้องผู้ว่าถึงมีแอร์ได้ แล้วทำไมคงห้องเด็กซึ่งเป็นอนาคตสำคัญของประเทศ ของเมือง ไม่มีเงินติดแอร์ให้
“อย่างเราเป็นผู้ว่าฯ เวลามีฝุ่นปุ๊บ เราก็เข้ามาในห้องเรา เปิดแอร์ ก็รู้สึกปลอดภัยขึ้น ความจริงแล้ว เรื่องงบประมาณเอง เรื่องการลงทุนกับเด็ก ผมว่าเป็น เรื่องที่มีประโยชน์และคุ้มค่า เพิ่มทั้งสมาธิ หลายด้าน แล้วก็คิดว่าเรื่องค่าไฟเองก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด อนาคตก็คงต้องมีการติดโซล่าเซลล์ในโรงเรียนมากขึ้น เป็นแนวนโยบายที่เราจะดูพื้นที่ต่างๆ ในหน่วยงานราชการ ที่จะติดโซลาเซลล์ มากขึ้น ผมเชื่อว่า ไม่ว่าเด็กรวยหรือจน น่าจะมีโอกาสได้เรียนในห้องที่สภาพเหมาะสมกับการเรียน ไม่ต้องกังวลเรื่องต่างๆ ก็คงเป็นภาพรวม แต่น้อมรับการตัดสินใจของสมาชิกทุกท่าน” นายชัชชาติกล่าว
ด้าน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแก้ไขข้อมูลเรื่อขนาดห้อง ความจริงห้องเรียนอนุบาลจะมีขนาด 49 ตรม. ถึง 64 ตรม. ทำให้ต้องมีแอร์ 30,000 บีทียู 2 เครื่อง
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ