21 ก.ย.2566 นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า วันที่ 22 ก.ย.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการธ.ก.ส. โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธานการประชุม โดยฝ่ายบริหารจะมีการเสนอมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปีตามนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่ต้องการลดภาระและสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นการเร่งด่วน คาดว่าจะนำข้อสรุปทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 26 ก.ย.นี้เพื่อให้การดำเนินการต่อไป
นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ยืนยันว่ามาตรการพักหนี้รอบใหม่ จะไม่เหมือนกับ 13 ครั้งในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นการทำมาตรการบนแนวทาง 2 เรื่อง คือ 1.มุ่งลดภาระให้เกษตรกร โดยจะพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้เกษตรกรทันที 3 ปี ส่วนภาระดอกเบี้ยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยให้ธ.ก.ส.แทน และ2.เร่งฟื้นฟูศักยภาพให้เกษตรกร มุ่งสร้างรายได้ในระหว่างร่วมมาตรการพักหนี้ โดยปรับวิธีคิดการทำเกษตรจากเดิมที่เน้นจำนวนการเพาะปลูกเป็นการเพิ่มเทคนิคทางการเกษตร การทำการตลาด วิธีการขาย กรณีที่มีการเพาะปลูกต้องรู้ตลาดว่าจะนำไปขายให้ใคร
“รัฐบาลให้นโยบายชัดเจนว่า ให้ธ.ก.ส.ไปทำมาตรการพักหนี้รอบใหม่ให้รอบด้าน โดยปิดจุดอ่อนมาตรการในอดีตให้มากที่สุด โดยตอบโจทย์ 3 ประเด็น คือ 1.ลดภาระ 2.ฟื้นฟูศักยภาพ และ3.ระมัดระวังการเสียวินัยชำระหนี้หลังจากพ้นระยะเวลามาตรการพักหนี้ไปแล้ว ปัจจุบันธ.ก.ส.มีลูกหนี้อยู่ราว 3.9 ล้านราย สินเชื่อรวม 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนลูกหนี้รายได้จะเข้าเกณฑ์ มีสินเชื่อรวมต่อรายเท่าใดก็จะเสนอหลายแนวทางให้พิจารณา”
นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า การพักหนี้รอบใหม่จะแตกต่างจากที่ผ่านมา ที่ลูกหนี้จะได้สิทธิ์ทันทีโดยอัตโนมัติไม่ต้องดำเนินการอะไร แต่ครั้งนี้ลูกหนี้ที่ต้องการร่วมโครงการ จะต้องโชว์ตัวตนผ่านแอพลิเคชั่น BAAC Mobile เพื่อให้ธนาคารสามารถติดตามสถานะลูกหนี้ได้ ไม่ใช่เข้าโครงการแล้วหายไปเลย ธนาคารก็จะประเมินสถานะลูกหนี้ พร้อมกำหนดแนวทางช่วยเหลือแต่ละรายแตกต่างกันตามความสามารถของลูกหนี้ การพักหนี้รอบใหม่จะมาเป็นแพ็คเกจ ทั้งการให้สิทธิ์ประโยชน์ รวมทั้งการให้สินเชื่อเพิ่มเติมกับลูกหนี้ที่ต้องการเงินทุน เพิ่มสภาพคล่องเพื่อการฟื้นฟู ไม่ให้ไปกู้นอกระบบ
ด้านนางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการศึกษาถอดบทเรียนการพักหนี้เกษตรกรไทย ว่า การพักหนี้ที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ซ้ำยังเป็นการทำให้เกษตรกรเสพติดการพักหนี้ในกลุ่มลูกหนี้ดี
ส่วนลูกหนี้เสียเหมือนเป็นการเตะปัญหาออกไป จึงเสนอให้มีการออกแบบมาตรการให้เหมาะสม คือ 1.ไม่ควรมีรูปแบบพักหนี้เหมือนเดิม และเน้นพักหนี้ระยะสั้น 2.แก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่ใช่พักหนี้ให้ทุกคน เช่น กลุ่มได้รับผลกระทบภัยแล้ง น้ำท่วม 3.เสริมแนวทางให้เกษตรกรช่วยเหลือตนเอง เช่น ระบบประกันสินเชื่อเกษตรกร โดยการพักหนี้ควรเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่รัฐบาลจะนำมาใช้
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ