“วิษณุ” ขอบคุณ “ภูมิธรรม” ที่ยังนึกถึงทาบทาม คกก.ประชามติ ปฏิเสธนิ่มๆ ไม่ขอนั่งอีก พ้นมาแล้ว





24 ก.ย. นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อยากทาบทามมาร่วมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ว่า ขอบพระคุณมากที่ยังนึกถึง แต่ท่านอาจจะไม่นึกถึงก็ได้ แต่มีสื่อฯ ไปถามนำท่านก่อน แต่ก็ขอบคุณที่นึกถึง ซึ่งงานที่ทำเป็นงานใหญ่ ใช้เวลาและยุ่งยาก ข้อสำคัญอยู่กับความเห็นที่แตกต่าง ที่อาจจะเกิดความขัดแย้ง

“ผมพ้นออกมาจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกลับไปเป็นบุคคลสาธารณะอีก เพราะการไปทำงานนี้ คือไปเป็นบุคคลสาธารณะอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ก็สบายอกสบายใจอยู่แล้ว” นายวิษณุ กล่าว…

เมื่อถามว่า หากมาขอคำแนะนำเป็นบางครั้งบางคราว นายวิษณุ กล่าวว่า ด้วยความยินดี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีอยู่บ้างคือรัฐมนตรีหน้าเก่าๆ ที่เคยอยู่ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งคุ้นเคยกันอยู่ ท่านก็โทรมาถามแบบที่สื่อฯ สอบถามว่า สมัยนั้นสมัยนี้เป็นอย่างไร แต่ไม่ถามว่า ควรจะอย่างไร เพราะท่านตัดสินใจเองได้ และถามเรื่องในอดีต อาทิ มติ ครม.เก่าๆ ซึ่งก็มีคนโทรมาถามบ่อยๆ ทุกวัน

นายวิษณุ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้ตอบไม่ถูก แต่ให้เขาคิดกันเอง เพราะว่ายุ่งยากซับซ้อน ข้อสำคัญหากจะใช้วิธีไหนก็ตาม ก็ควรจะหลบหลีกการทำประชามติหลายครั้ง และเห็นด้วยกับแก้ไขเป็นรายมาตรา ทีละหลายๆ มาตราก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้แต่เพียงว่ากรณีที่เป็นการแก้ไขหมวด 1 ทั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการแก้ไขอำนาจและหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามขององค์กรอิสระ โดยเรื่องเหล่านี้ เมื่อแก้เสร็จวาระ 1 วาระ 2 และวาระ 3 ก่อนที่จะนำขึ้นต้องทำประชามติ

นายวิษณุ กล่าวว่า การแก้ไขที่ควรทำคือ ถ้าต้องการแก้เกี่ยวกับองค์กรอิสระ และไปกระทบกับเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ตรงนี้ต้องทำประชามติ เพราะฉะนั้นเก็บไว้ทำคราวหลังได้หรือไม่ ถ้าอยากแก้ไปก่อนคือหมวด 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประชาชนต้องการ และหมวด 4 หน้าที่ของรัฐ หมวด 5 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ หมวด 7 รัฐสภา ซึ่งแก้ได้ตามใจชอบ ไม่ต้องทำประชามติ หมวด 8 คณะรัฐมนตรี (ครม.) หมวด 9 ผลประโยชน์ขัดแย้งกัน หมวด 10 เรื่องศาล หมวด 11 องค์กรอิสระ เรื่องเหล่านี้แก้ได้หมด แต่พอไปถึงองค์กรอิสระอำนาจหน้าที่ และคุณสมบัติต้องห้าม จะไปเจอเรื่องทำประชามติ คืออย่าเพิ่งไปทำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำประชามติควรทำครั้งเดียวตอนเสร็จแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องทำประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดไว้ ถ้าคุณแก้มาตรา 256 ว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ต้องทำประชามติ มันก็ไม่ต้องทำประชามติ แต่การจะแก้หนแรกในเรื่องมาตรา 256 ต้องทำประชามติเสียทีหนึ่งก่อน และจะลบล้างเรื่องประชามติไปได้

เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทต้องทำประชามติ 3-4 ครั้งใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องแก้ไขมาตรา 256 เสียก่อน พอเสร็จวาระ 1 นำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป จะไม่ได้เจอเรื่องทำประชามติ แต่ถ้าแก้ตามแนวทางของรัฐบาลต้องทำประชามติ คือ 1. คุณต้องทำประชามติแก้ทั้งฉบับว่าเห็นด้วยหรือไม่ 2. ต้องตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และ 3. ถ้า ส.ส.ร.ต้องไปทำประชามติทั้งประเทศอีก ซึ่งการทำประชามติครั้งหนึ่งประมาณ 3 พันล้านบาท ดังนั้น แก้ที่มาตรา 256 แต่การแก้มาตรา 256 หากพูดกันไม่ดีอาจไม่ผ่าน เพราะต้องผ่านความเห็นของ สว. หรือไม่เขาก็กลัวว่าจะไปแก้อะไรต่อมิอะไรกัน อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยการทำประชามติควรทำ 2 ครั้งก็ยังดี คือต้องเริ่มแก้ไข และตอนจบที่จะไปประกาศใช้.

 

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: