4 ตุลาคม นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สพฐ.จัดสอบคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
โดยมีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ และ อ.ก.ค.ศ.สศศ.เปิดรับ 246 แห่ง รวม 4,113 อัตรา แบ่งเป็น รองผู้อำนวยการสถานศึกษา 957 อัตรา และผู้อำนวยการสถานศึกษา 3,156 อัตรา นั้น ขณะนี้ได้ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านการคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว และเตรียมบรรจุแต่งตั้ง ภายในวันที่ 5 ตุลาคม เพื่อเติมเต็มอัตราว่างเดิมและทดแทนอัตราเกษียณอายุราชการ
ทั้งนี้ หลังบรรจุแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว สพฐ.จะจัดอบรม และต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษา เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้มีการประเมิน 2 ครั้ง ทุก 6 เดือน หากผลการประเมิน 6 เดือนแรกไม่ผ่าน ให้ผู้ประเมินแจ้งผลการประเมินให้ผู้รับประเมินทราบ เพื่อพัฒนาตนเองและปรับปรุงการปฏิบัติงานในหน้าที่ และเมื่อครบ 6 เดือนหลัง ให้มีการประเมินครั้งที่ 2 หากผ่านการประเมิน ให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่อไป หากไม่ผ่านการประเมินทั้ง 2 ครั้ง จะต้องถูกดำเนินการตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษารับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน พ.ศ.2551 ทั้งนี้ที่ผ่านมากว่าร้อยละ 99 ของผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งจะผ่านการประเมิน มีส่วนน้อยที่ไม่ผ่านและต้องถอยกลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม
นายสุรินทร์กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ว16 รอบ 2 เพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ครบตามอัตราว่างเหลืออยู่ 1,279 อัตรานั้น เดิมกำหนดจะเปิดสอบในเดือนพฤศจิกายนนั้น คงต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คนใหม่ แต่ที่จะต้องดำเนินการเร็วๆ นี้คือ การคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38ค.(2) ของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 17 แห่ง รวม 612 อัตรา แห่ง 36 อัตรา ซึ่งเมื่อจัดสอบและขึ้นบัญชีเรียบร้อยแล้ว โรงเรียนสามารถเรียกบรรจุเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที ส่วนการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้ดำรงตำแหน่งและวิทยฐานะเดิม ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งใหม่นั้น ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา ส่วนที่มีการฟ้องร้องก็ให้เป็นไปตามขั้นตอน
“ขั้นตอนจากนี้ งานบริหารงานบุคคลต่างๆ ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากเลขาธิการ กพฐ.คนใหม่ แต่ที่ต้องเร่งดำเนินการขณะนี้คือ การอบรมพัฒนารองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ทั้ง 2 รุ่นที่บรรจุไปก่อนหน้านี้และพัฒนาผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ที่บรรจุใหม่ รวมถึงเร่งอบรมพัฒนาผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ รวมถึงเตรียมจัดทำปฏิทินสอบครูผู้ช่วย ว16 รอบ 2 ที่ยังมีอัตราว่าง เสนอเลขาธิการ กพฐ.คนใหม่ พิจารณาเห็นชอบ” นายสุรินทร์กล่าว
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ