6 ตุลาคม น.ส.ทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า วันที่ 7 ตุลาคม กรมบัญชีกลางครบรอบวันสถาปนา ปีที่ 133 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางดำเนินภารกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส เพื่อกำกับดูแลและบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.ทิวาพร กล่าวว่า โดยผลการดำเนินงานที่สำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของกรมบัญชีกลางสรุป ดังนี้ การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ในภาพรวมเบิกจ่ายแล้ว 3.088 ล้านล้านบาท คิดเป็น 96.97% ของวงเงินงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท จำแนกเป็น รายจ่ายประจำเบิกจ่ายแล้ว 2.61 ล้านล้านบาท คิดเป็น 101.60% ของกรอบรายจ่ายประจำ รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายแล้ว 4.78 แสนล้านบาท คิดเป็น 77.66% ของกรอบรายจ่ายการลงทุน สำหรับเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีเบิกจ่ายแล้ว 1.73 แสนล้านบาท
น.ส.ทิวาพร กล่าวว่า สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2566 กรมบัญชีกลางได้พัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลราคา ช่วยป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลการเสนอราคา อีกทั้งลดระยะเวลาการเสนอราคา จากเดิม 8 ชั่วโมง เหลือ 3 ชั่วโมง สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-บิดดิ้ง ในปีงบประมาณ 2566 หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและก่อหนี้แล้วจำนวนทั้งสิ้น 5.44 ล้านโครงการ โดยมีมูลค่าที่จัดหาได้ 1.15 ล้านล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณได้ 6 หมื่นล้านบาท
น.ส.ทิวาพร กล่าวว่า ส่วนร่างกฎกระทรวงกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. …. เพื่อลดปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐล่าช้า เนื่องจากที่ผ่านมามีเรื่องอุทธรณ์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
น.ส.ทิวาพร กล่าวว่า ส่วนสวัสดิการรักษาพยาบาล ในปีงบประมาณ 2566 กรมบัญชีกลางได้กำหนดแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านกระเป๋าสุขภาพ บนแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกสำหรับช่องทางการยืนยันตัวตนของผู้มีสิทธิ และขยายบริการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมถึงกรณีการเข้ารับบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ผู้มีสิทธิไม่ต้องเดินทางมายังสถานพยาบาล และรอรับยาที่สถานพยาบาลจะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ด้วย โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จำนวนทั้งสิ้น 4.77 ล้านคน มีผลการเบิกจ่ายเงินรวม 9.65 หมื่นล้านบาท
น.ส.ทิวาพร กล่าวอีกว่า สำหรับปีงบประมาณ 2567 กรมบัญชีกลางมีแผนการดำเนินการ เพื่อให้การพัฒนาระบบเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลมีความครบถ้วนในทุกมิติ สามารถอำนวยความสะดวกด้านการเบิกจ่ายตรง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินภาครัฐเกิดประโยชน์สูงสุด มีความรวดเร็ว และโปร่งใส ได้แก่ การปรับรอบการประมวลผลข้อมูลการขึ้นสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล จากเดิมที่จะดำเนินการทุก 15 วัน เป็นการดำเนินการทุก 7 วัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในรอบการขึ้นสิทธิข้อมูลในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
อ่านเพิ่มเติม https://www.matichon.co.th/politics/news_4218751
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ