25 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 จ.ค. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงนามใน คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 591/2566 เรื่อง แนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565
ซึ่งในคำสั่งนี้ ว่าด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป และได้กำหนดให้กฎหมายในบัญชี 1 และบัญชี 3 ท้าย พ.ร.บ.นี้ โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 ตุลาคม 2566
ทั้งนี้รายละเอียดที่น่าสนใจได้แก่ ถ้าค่าปรับสูงเกิน 1 หมื่นบาท การพิจารณาปรับพินัยต้องทำเป็นองค์คณะ หากผู้ต้องหาปฏิเสธข้อกล่าวหา หรือไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัย ให้ส่งสำนวนฟ้องศาลต่อไป ไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนคดีขาดอายุความ
เปิดช่องทางให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่น ติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ยื่นคำร้อง คำรับสารภาพ คำชี้แจงข้อกล่าวหา การปฏิเสธข้อกล่าวหา ได้
สามารถผ่อนชำระได้ ห้ามบันทึกการกระทำความผิดทางพินัยของบุคคลใดรวมไว้ในบันทึกประวัติอาชญากรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ค่าปรับเป็นพินัย หมายถึง กฎหมายในการกำหนดโทษอาญาหรือมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด เพื่อไม่ให้บุคคลต้องรับโทษเกินสมควร
จึงตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ขึ้นใช้บังคับ เพื่อเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาและโทษปรับทางปกครองมาเป็น “โทษปรับเป็นพินัย” คือ เงินค่าปรับที่ต้อง ชำระให้แก่รัฐ ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จะนำมาใช้แทนโทษทางอาญาสำหรับผู้กระทำความผิดไม่ร้ายแรง และโดยสภาพไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรงหรือไม่กระทบต่อส่วนรวมอย่างกว้างขวาง
โดยการกำหนดให้ความผิดทางพินัยมีการชำระค่าปรับเป็นพินัย ตามจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาล กำหนดเท่านั้น ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับ ไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม ซึ่งไม่มีสภาพบังคับเป็นโทษอาญา และลดทอนโทษอาญาที่ไม่จำเป็น รวมทั้งปรับปรุงระบบโทษปรับให้มีประสิทธิภาพ
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ