รบ.ชงซื้อเรือฟริเกต เพราะเซ็นสัญญาเรือดำน้ำแล้ว แค่ขอเปลี่ยน ดีกว่าสูญเงินเปล่า





22 ตุลาคม น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลไทยชะลอจัดซื้อเรือดำน้ำและเปลี่ยนมาเป็นเรือฟริเกตกับประเทศจีนแทน ว่า เดิมทีเรือดำน้ำมีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์อยู่แล้ว จึงทำให้ต้องมีการชะลอซื้อบวกกับช่วงสถานการณ์โควิด แม้จะมีการเซ็นสัญญากันแล้ว เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหาร ถามว่าหากยกเลิกสัญญาจะมีผลต่อเบี้ยปรับต่างๆ หรือมีผลกระทบหรือไม่ ก็มีผลกระทบในเรื่องงบประมาณที่ต้องสูญเสียอยู่แล้ว

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า ฉะนั้น นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาหาทางเลือกเพิ่มเติมคือเปลี่ยนเป็นเรื่องฟริเกต เพื่อให้สัญญาที่เซ็นไปในการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นเพื่อทดแทนและสามารถใช้งานได้ ซึ่งหากมองในหลักการ การเสียเงินไปเฉยๆ กับการที่ยังสามารถได้ของมาใช้งานได้จริง และคิดว่านายสุทินจึงพิจารณาในแนวทางที่เหมาะสมและรอบคอบที่สุดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรือฟริเกตหรือจัดหาเรือตรวจการระยะไกล (OPV) เพื่อไม่ให้เราสูญเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ ตนคิดว่ากระบวนการนี้ที่เป็นข้อเสนอที่อาจจะต้องมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบอีกครั้งในมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะงบประมาณก้อนใหญ่

เมื่อถามว่า กังวลว่าฝ่ายค้านจะหยิบยกประเด็นนี้มาโจมตีรัฐบาลหรือไม่ เพราะมีเสียงคัดค้านและเสียงท้วงติงไม่แพ้เรื่องเรือดำน้ำ น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านมีบทบาทและหน้าที่ในการตรวจสอบ สามารถตั้งคำถามได้อยู่แล้ว ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็จะต้องมีเหตุผลในการชี้แจง ฉะนั้น คิดว่าอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจเพราะเป็นหารเสนอทางเลือกที่มี ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการเลยหรือไม่ และรัฐบาลไทยก็คงจะพยายามเจรจากับรัฐบาลจีนว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะซื้อเป็นอย่างอื่น แต่ยังไม่ได้ซื้อในวันนี้ พรุ่งนี้ เนื่องจากเหตุผลความจำเป็นด้านงบประมาณ อย่างไรก็ตาม คงจะต้องมีการเจรจาอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ จะมีการเชิญนายสุทินมาชี้แจง พร้อมมีข้อเสนอว่าจะขอที่ประชุมถ่ายทอดสดการประชุมด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตาม ตรวจสอบการทำงานให้คุ้มค่า มองว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นถึงขั้นต้องเปิดให้ถ่ายทอดสดหรือไม่ น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า บทบาทของกมธ.เมื่อมีข้อสังเกตหรือข้อสงสัยใดๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจงได้อยู่ แต่สำหรับการถ่ายทดสด กมธ.ตามระเบียบเดิมนั้น ไม่มี แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมของกมธ.ว่าจะเห็นสมควรอย่างไร

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนมองว่าจะถ่ายทอดสดหรือไม่ถ่ายทอดสด เนื้อหาสาระที่เกิดขึ้นจากคำชี้แจงหรือการตั้งข้อสังเกตนั้น ก็มีโฆษก กมธ. มีประธาน กมธ. มี กมธ.ที่ประกอบจากหลายพรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านที่จะสามารถออกมาให้หรือชี้แนะข่าวสารกับประชาชนได้อยู่แล้ว เพราะในชั้นของการชี้แจงอาจจะมีเอกสารบางส่วนที่เป็นเอกสารลับ ซึ่งใช้ในระบบราชการที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: