ไม่จ่ายค่าปรับ-ปฏิเสธข้อกล่าวหา ให้ส่งฟ้องศาล! ตร.เผยแนวทางออก ‘ใบสั่งจราจร’ใหม่





25 ต.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.สหัสสชัย โลจายะ รองผู้บังคับการกองแผนงานความมั่นคง รักษาราชการแทน ผู้บังคับการกองแผนงานความมั่นคง (รอง ผบก.ผค.รรท.ผบก.ผค.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้ลงนามบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ 0007.34/2423 เรื่อง แจ้งแนวทางการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดีปรับเป็นพินัยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

แจ้งไปยัง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ,ผู้บังคับบัญชาตำรวจภูธรภาค 1-ภาค 9 (ภ.1-9) และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก) กรณี ตร.ได้กำหนดแนวทางในการออกใบสั่งและการดำเนินคดีปรับเป็นพินัยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 โดยให้ทุกหน่วยประชุมชี้แจงกับผู้ปฏิบัติงาน และถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

แนวทางการออกใบสั่งและการดำเนินคดีความผิดทางพินัยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง

ตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 กำหนดให้ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 ท้าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัย และให้ถือว่าอัตราโทษปรับอาญาเป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัย ตั้งแต่ 25 ต.ค.2566 เป็นต้นไป ซึ่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เป็นกฎหมายในบัญชี 1 ซึ่ง ตร.ได้มีข้อหารือไปยังคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติในคดีจราจรในหลายประเด็น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอตอบข้อหารือ

ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานในคดีจราจรในระหว่างรอการตอบข้อหารือคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ตร. จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติในคดีจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เฉพาะความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวซึ่งจะเป็นความผิดทางพินัย เป็นการชั่วคราว ไว้ดังต่อไปนี้

1) เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2566 ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการกฎหมายเรื่องนั้นๆ แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย

1.1 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ลง 25 ต.ค.2566 กำหนดให้เจ้าพนักงานจราจร ที่ดำรงตำแหน่งสารวัตรหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ

1.2 พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ,ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐของกรมทางหลวงให้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 พ.ศ.2566 ลง 20 ต.ค.2566 กำหนดให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไปหรือเทียบเท่าตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป ในสังกัด บก.ทล. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ตาม พ.ร.บ.ทางหลวงฯ

@ออกใบสั่งตาม ม.140 ‘พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ’ได้ 3 รูปแบบ

2) แนวทางการออกใบสั่งเมื่อพบการกระทำความผิดและผู้มีอำนาจในการออกใบสั่ง

ด้วย มาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 กำหนดว่า หากในกฎหมายเรื่องใดกำหนดขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ไว้เป็นการเฉพาะ ไม่ต้องนำความในมาตรา 19 20 และ 21 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 มาใช้บังคับ ดังนั้น ในการปฏิบัติงานจราจร จึงสามารถใช้ขั้นตอนการออกใบสั่งใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522ได้ ดังนี้

2.1 การออกใบสั่ง กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐพบการกระทำผิด

2.1.1 เจ้าพนักงานจราจรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ พบผู้ขับขี่ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 หรือ

2.1.2 เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ทางหลวงฯ และพ.ร.บ.จราจรทางบกฯ พบผู้ขับขี่ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535

สามารถออกใบสั่งตามมาตรา 140 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ได้ทั้ง 3 รูปแบบใบสั่ง (ใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรสำหรับให้กับผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ /ใบสั่งสำหรับส่งทางไปรษณีย์ /ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์)

ให้งดการออกใบสั่งสำหรับความผิดตามกฎหมายอื่น ได้แก่ ความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ,พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ไว้จนกว่ารัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นๆ จะแต่งตั้งให้ตำรวจจราจรเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย

2.2 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามข้อ 1 พบการกระทำความผิด ห้ามมิให้ออกใบสั่ง หรือทำบันทึกจับกุมโดยเด็ดขาด แต่ให้แจ้งการกระทำความผิดนั้นพร้อมพยานหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายเรื่องนั้นๆ

2.2.1 ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐตามข้อ 2.1 (1 หรือ 2.1 (2) แล้วแต่กรณี เพื่อทำการออกใบสั่งให้แก่ผู้กระทำความผิดตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

2.2.2 ความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ให้ส่งพยานหลักฐานการกระทำผิดไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายนั้นๆ เพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

2.3 ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนและมีโทษปรับ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับรถ ยังคงเป็นความผิดอาญา ให้เจ้าพนักงานจราจรและพนักงานสอบสวน ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ได้ตามแนวทางเดิม โดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยแต่อย่างใด

@กำหนดรูปแบบ‘ใบสั่ง’-รายละเอียดที่ต้องแจ้งผู้ขับขี่

3.รูปแบบใบสั่ง และรายละเอียดที่ปรากฎในใบสั่ง

3.1 ให้ใช้ใบสั่งแบบใบสั่ง ทั้ง 3 รูปแบบ ตาม ประกาศ ตร. เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ในการออกใบสั่งให้แก่ผู้ขับขี่ แล้วแต่กรณี และให้ลงบันทึกข้อมูลในระบบ PTM ตามแนวทางเดิมที่ ตร.กำหนด รวมทั้งให้ออกหนังสือแจ้งการไม่ชำระค่าปรับ (หนังสือเตือน) ตามมาตรา 141/1 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาชำระค่าปรับตามใบสั่งด้วย

3.2 การกำหนดอัตราค่าปรับที่ต้องชำระในใบสั่ง ให้ใช้อัตราค่าปรับตามประกาศ ตร. เรื่องกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2566 เป็นเกณฑ์ค่าปรับเป็นพินัยเบื้องต้นสำหรับคดีจราจรฯ

เพื่อก่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อประชาชน ตามนัยมาตรา 9(1) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 และให้ใช้แนวทางตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2566 ข้อ 6 (2)(3) พิจารณาปรับ ลดหรือเพิ่มค่าปรับจากเกณฑ์ดังกล่าว ตามข้อเท็จจริง แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ต่ำกว่า 50 บาท

3.3 ให้แนบคำแจ้งสิทธิตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ไปพร้อมกับใบสั่งโดยให้เป็นไปตามรูปแบบที่ ตร.กำหนดแนบท้ายแนวทางนี้ (อ่านด้านล่าง)

@จ่ายค่าปรับตาม‘ช่องทาง’ที่เคยปฏิบัติ 3 กรณี

4.การรับชำระค่าปรับ

4.1 การปรับเป็นพินัย สำหรับใบสั่ง ไม่ว่าจะออกก่อนหรือตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.2566 เป็นต้นไป สามารถรับชำระค่าปรับตามมาตรา 141 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ได้ในทุกช่องทาง ตามที่เคยปฏิบัติเดิม

4.2 การปรับเป็นพินัย สำหรับใบสั่งก่อนวันที่ 25 ต.ค.2566 พนักงานสอบสวนยังคงมีอำนาจปรับ (อาศัยอำนาจตามบทเฉพาะกาล ในมาตรา 45 (1) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565) โดยให้ดำเนินการปรับเป็นพินัยไปตามอำนาจใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 (ทั้งนี้ มิให้ปรับลดหรือเพิ่มจากจำนวนค่าปรับที่ระบุไว้ในใบสั่ง รวมถึงห้ามมิให้ว่ากล่าวตักเตือน ตามที่เคยอาศัยอำนาจในมาตรา 145 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ)

โดยยังสามารถปรับความผิดตามใบสั่งได้ทุกกฎหมายจนกระทั่งสิ้นสุดกระบวนการตามมาตรา 141/1 (2) (ง) แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

4.3 การปรับเป็นพินัย สำหรับใบสั่งตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.2566 เป็นต้นไป เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยให้ปรับตามจำนวนค่าปรับที่ระบุในใบสั่ง และห้ามมิให้ว่ากล่าวตักเตือน ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนใช้อำนาจตามมาตรา 145 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ทำการเปรียบเทียบปรับโดยเด็ดขาด

4.4 ช่องทางในการรับชำระค่าปรับเป็นพินัย (ค่าปรับจราจร) ชำระเป็น 3 กรณี ดังนี้

4.4.1 รับชำระด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามหนังสือ กค. ด่วนที่สุด ที่ กค 0402.5/031698 ลง 29 ส.ค.2559เรื่อง ขออนุมัติรับชำระเงินค่าปรับโดยวิธีการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่น โดยผ่านธนาคาร หรือหน่วยบริการรับชำระเงิน (เหมือนเดิม)

4.4.2 รับชำระทางไปรษณีย์ (เหมือนเดิม)

4.4.3 รับชำระที่สถานีตำรวจ ในระยะแรกสามารถรับชำระและออกใบเสร็จรับเงินค่าปรับจราจร ด้วยรูปแบบเดิมจากระบบ PTM โดยขีดฆ่าคำว่า “พนักงานสอบสวน” และ “ผู้ต้องหา” แล้วใช้คำว่า “ผู้ถูกกล่าว” แทนไปพลางก่อน จนกว่า ตร. จะดำเนินการแก้ไขรูปแบบใบเสร็จรับเงินในระบบ PTM ให้เรียบร้อย

4.5 กรณีการกระทำความผิดตามใบสั่ง เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและมีอัตราโทษปรับสูงสุดตามกฎหมายอื่น ห้ามมิให้ทำการปรับเป็นพินัย และให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายนั้นๆต่อไป เช่น ความผิดกรรมเดียว ผิดทั้ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ มีอัตราโทษปรับสูงกว่า ต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงานขนส่งทางบกแต่ละพื้นที่ เพื่อดำเนินการต่อไป

หรือความผิดฐานขับรถบนทางเท้า เป็นความผิดทั้ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มีอัตราโทษสูงกว่า ต้องส่งเรื่องไปยัง กทม. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้น

4.6 กรณีผู้กระทำความผิดที่ประสงค์ ขอผ่อนชำระค่าปรับ หรือประสงค์ขอยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อชำระค่าปรับต่ำกว่ากฎหมายกำหนดหรือทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจในการปรับเป็นพินัย รับคำร้องและพิจารณาดำเนินการ ตามระเบียบ และกฎหมายต่อไป

การผ่อนชำระค่าปรับ ให้หัวหน้าหน่วยงานที่มีหน้าที่รับชำระค่าปรับเป็นพินัยจัดให้มีระบบการควบคุมและติดตามการผ่อนชำระค่าปรับ และควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

@ยกเลิก‘ใบสั่ง’ได้ หากเจ้าหน้าที่ออกโดยความผิดพลาด

5.กรณีผู้ได้รับใบสั่งเป็นนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถ ตามมาตรา 160 จัตวาแห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

5.1 กรณีนิติบุคคลแจ้งชื่อผู้ขับขี่ แก่พนักงานสอบสวน ภายในเวลาที่กำหนดตามกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐออกใบสั่งให้แก่ผู้ขับขี่ผู้ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เพื่อชำระค่าปรับต่อไป

5.2 กรณีนิติบุคคลผู้ได้รับใบสั่ง ไม่แจ้งชื่อผู้กระทำความผิดภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดให้พิจารณาและดำเนินการปรับเป็นพินัย ตามความผิดในมาตรา 160 จัตวา ในรูปองค์คณะ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนสามคน ซึ่งมีหัวหน้าองค์คณะหนึ่งคน และองค์คณะอีกจำนวนสองคน ทั้งนี้ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ลง 25 ต.ค.2566

โดยให้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและออกคำสั่งปรับเป็นพินัยแก่นิติบุคคนั้นฯ รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายต่อไปในรูปขององค์คณะตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ หากต่อมาพบว่าผู้ใดเป็นผู้ขับขี่ก็ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐออกใบสั่งเพื่อดำเนินคดีปรับเป็นพินัยกับผู้ขับขี่ดังกล่าวอีกส่วนหนึ่งต่อไป

6.การดำเนินคดีกรณีการปฏิเสธการกระทำความผิดตามใบสั่งกรณีผู้ถูกออกใบสั่งไม่ใช่ผู้ขับขี่ (มาตรา 140/1 หรือกรณีใบสั่งคลาดเคลื่อน

กรณีผู้ขับขี่ เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถผู้ได้รับใบสั่ง ปฏิเสธ การกระทำความผิดตามใบสั่ง (เฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.ทางหลวงฯ เท่านั้น) ให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

6.1 กรณีปรากฎความผิดพลาดในใบสั่ง เช่น รถที่ปรากฎตามใบสั่งมิใช่รถคันเดียวกันกับรถของเจ้าของรถ (รถสวมทะเบียน) เป็นต้น ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ออกใบสั่ง ยกเลิกใบสั่งดังกล่าว และดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อออกใบสั่งให้แก่ผู้กระทำความผิดที่แท้จริงต่อไป และบันทึกเหตุแห่งความผิดพลาดนั้นไว้

6.2 กรณีเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถมิใช่ผู้ขับขี่ และแจ้งต่อพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐถึงตัวผู้ขับขี่ที่แท้จริงตามมาตรา 140/1 ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการออกใบสั่งให้กับผู้ขับขี่ตามแนวทางในข้อ 2 และ ข้อ 3 กรณีไม่ทราบตัวผู้ขับขี่ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการต่อไปตามที่กฎหมายกำหนด

@ไม่จ่ายค่าปรับตาม‘ใบสั่ง’-ปฏิเสธข้อหาให้ส่งฟ้องศาลฯ

7.การดำเนินคดีเมื่อไม่มีการชำระค่าปรับตามใบสั่งหรือกรณีผู้ถูกออกใบสั่งปฏิเสธข้อกล่าวหา

7.1 กรณีใบสั่งที่ออกก่อนวันที่ 25 ต.ค.2566 เมื่อพ้นกำหนดชำระค่าปรับตามระยะเวลาในมาตรา 141/1 (2) (ง) (กรณีเจ้าของรถผู้ได้รับแจ้งค่าปรับค้างชำระจากนายทะเบียน แล้วไม่ชำระหรือดำเนินการอื่นใดใน 30 วัน) แล้วให้ดำเนินการดังนี้

7.1.1 กรณีข้อหาตามใบสั่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 สถานเดียว หรือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 สถานเดียวให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายนั้นๆ สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐานและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในเรื่องความผิดทางพินัย และ คำสั่ง ตร. ที่ 591/2599 ลง 24 ต.ค.2566 เรื่อง แนวทางการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565

7.1.2 กรณีข้อหาตามใบสั่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 หรือ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 แต่เป็นความผิดตามกฎหมายอื่นรวมอยู่ด้วย ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามข้อ 7.1.1 เฉพาะความผิด ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 หรือ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 เท่านั้น ส่วนความผิดตามกฎหมายอื่นให้ทำหนังสือแจ้งการกระทำความผิดนั้นพร้อมพยานหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายเรื่องนั้นๆ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

7.1.3 กรณีข้อหาตามใบสั่งเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นที่มิใช่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 หรือ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบกฎหมายนั้นๆ พร้อมด้วยพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

7.2 กรณีใบสั่งที่ออกตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.2566 เป็นต้นไป (เฉพาะ พ.ร.บ.จราจรทางบก และพ.ร.บ.ทางหลวงฯ) เมื่อพ้นกำหนดการชำระค่าปรับตามหนังสือแจ้งการไม่ชำระค่าปรับ (หนังสือเตือน) ตามมาตรา 141/1 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 หรือ กรณีผู้ถูกออกใบสั่งปฏิเสธข้อกล่าวหาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ออกใบสั่งตามกฎหมายนั้นๆ สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐานและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ

เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในเรื่อง ความผิดทางพินัย และ คำสั่ง ตร. ที่ 591/2566 ลง 24 ต.ค.2566 เรื่อง แนวทางการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565

7.3 เอกสารสรุปสำนวนเพื่อส่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการในคดีจราจร อย่างน้อยต้องประกอบด้วยเอกสารดังนี้

(1) สรุปรายงานการสอบสวนคดีความผิดทางพินัย

(2) หลักฐานที่ทางราชการออกให้ที่สามารถยืนยันตัวและที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาได้ เช่น สำเนาทะเบียนราษฎร์ ซึ่งพิมพ์จากฐานข้อมูลทะเบียนกลางของกรมการปกครองด้วยระบบคอมพิวเตอร์

(3) สำเนาใบสั่ง หนังสือแจ้งข้อกล่าวหา หรือคำสั่งปรับเป็นพินัย (ถ้ามี)

(4) หลักฐานการส่งใบสั่ง หนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง หนังสือแจ้งข้อกล่าวหาคำสั่งปรับเป็นพินัยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ

(5) สำเนาหนังสือแจ้งการกระทำความผิดตามข้อ 6 (ถ้ามี)

(6) สำเนาประกาศหรือคำสั่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามกฎหมาย

(7) สำเนาประกาศสานักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิด ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

(8) แผนที่เกิดเหตุ (ถ้ามี)

(9) บัญชีทรัพย์ (ถ้ามี)

(10) รายงานการตรวจพิสูจน์ (ถ้ามี)

(11) พยานวัตถุ (ถ้ามี)

(12) พยานหลักฐานอื่นๆ(ถ้ามี)

8.การดำเนินการของพนักงานสอบสวนกรณีพบการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่มีโทษปรับสถานเดียว ในฐานะพนักงานสอบสวนเวร

8.1 กรณีพนักงานสอบสวน พบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่มีโทษปรับสถานเดียวที่เป็นโทษปรับทางพินัยในหน้าที่เวรสอบสวน เช่น คดีอุบัติเหตุที่ไม่มีผู้บาดเจ็บและไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อันเป็นความผิดตามมาตรา 43(4) แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

ให้พนักงานสอบสวนแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ดำเนินการตามแสวงหาข้อเท็จจริงและออกคำสั่งปรับโดยใช้รูปแบบการออกใบสั่งตามแนวทางในข้อ 2 และข้อ 3 หรือดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง แจ้งข้อกล่าวหา และออกคำสั่งปรับ ตามแนวทางที่กำหนดใน กฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ.2566 แล้วแต่กรณีต่อไป โดยให้พิจารณาถึงความสะดวกของประชาชนเป็นสำคัญ

กรณีผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธข้อกล่าวหา ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายพยานหลักฐานและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล ตามแนวทางที่กำหนดในข้อ 7.2

ในกรณีที่มีการละเมิดทางแพ่งอันเกิดจากการกระทำความผิดดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นลงบันทึกประจำวัน บันทึกการดำเนินการตามกฎหมาย ไว้เป็นหลักฐานอีกส่วนหนึ่ง

8.2 กรณีพนักงานสอบสวน พบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่มิได้เป็นโทษปรับทางพินัย (เป็นคดีอาญา และต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) เช่น คดีอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

9.การรายงานผลการดำเนินการกรณีการปรับเป็นพินัยในการรายงานการสั่งปรับเป็นพินัยให้แต่ละหน่วยจัดทำรายงานเป็นรายเดือน รายไตรมาส และรายปี โดยมีข้อมูล ดังต่อไปนี้

(1) จำนวนคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติการพิจารณากำหนดค่าปรับเป็นพินัย

(2) จำนวนคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งปรับเป็นพินัย

(3) จำนวนคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ

(4) จำนวนคดีที่พนักงานอัยการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาล

(5) จำนวนคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทำงพินัย และจำนวนคดี ที่ศาลสั่งยกฟ้องหรือไม่รับไว้พิจารณา

(6) จำนวนเงินค่ำปรับเป็นพินัยทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลมีคำสั่งปรับเป็นพินัยและจำนวนเงินค่ำปรับเป็นพินัยทั้งหมดที่ได้รับการชำระ

(7) จำนวนคดีที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 โดยแยกคำสั่งตามมาตรา 10 วรรคหนึ่งและ วรรคสอง โดยให้แยกตามประเภทฐานความผิด การจัดทำข้อมูลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ทำโดยวิธีการทำงอิเล็กทรอนิกส์จัดเก็บไว้ในสาระบบของหน่วยงาน

 

 

 

ข่าวจาก : isranews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: