เตรียมออกกฎกระทรวง พก ‘ยาบ้า’ ไม่ถึง 10 เม็ด เป็นผู้เสพไม่ต้องเข้าคุก





30 ตุลาคม ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดสธ. ผู้บริหาร บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข และผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดจำนวน 536 คน ร่วมประชุมด้วย

นพ.ชลน่านกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยยึดหลัก “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ด้วยการพัฒนารูปแบบการเข้ารับบริการที่เชื่อมโยงตั้งแต่ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลภายใน 100 วัน (Quick win) โดยมีเป้าหมายการดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาวให้ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชุมชนที่ประสงค์จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ 146 แห่ง รองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้ทั้งสิ้น 1,957 เตียง แบ่งเป็น รูปแบบ Intermediate Care 692 เตียง และ Long Term Care 1,265 เตียง โดยจะเปิดบริการผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในรูปแบบมินิธัญญารักษ์ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้

นพ.ชลน่านกล่าวว่า 2.มีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด โดยปัจจุบันมีเตียงจิตเวช 7,796 เตียง หอผู้ป่วยจิตเวช (Ward) 69 แห่งใน 58 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 76.32 ของจังหวัดทั่วประเทศ และ 3.มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 776 แห่ง มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดแล้ว 626 แห่ง (ร้อยละ 80.67) ที่เหลืออีก 150 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเข้าใจในนโยบายการดำเนินงานบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เกิดการพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน “มินิธัญญารักษ์” และการบำบัด รักษาผู้ติดยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Based Treatment : CBTx) ที่ชัดเจนในทุกจังหวัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการคุณภาพตั้งแต่ระยะแรก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างเป็นปกติ

“ฝากให้ทางสาธารณสุขของเราเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด เพราะลักษณะ Community Based ทำร่วมกับหลายกระทรวง อย่างที่มีการทำศูนย์ต่อสู้ยาเสพติดระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ก็ฝากพวกเราให้ความใส่ใจ ชิงนำการทำงานให้ได้แต่ไม่ใช่แย่งกันทำงาน อยากให้เราเกิดความสุขในการทำงาน เราสามารถนำเขาได้ จริงอยู่ว่าในเชิงโครงสร้างกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นแกนนำในงานนี้ แต่ด้วยความเคารพ เมื่อผมดูแผนงานของเขาแล้ว พบว่าเขาจะต้องใช้งบประมาณเป็นตัวตั้ง ถ้าไม่มีเงิน เขาบอกเขาทำไม่ได้ ขณะที่พวกเราทำงานในพื้นที่ เราไม่เคยเอาเงินเป็นตัวตั้ง เราใช้กลุ่มเป้าหมาย ใช้สภาวะที่เราปฏิเสธไม่ได้คือการมีผู้ป่วย ดังนั้นเราต้องใช้จุดเด่นของเรา เพราะต่อไปจะต้องทำงานผสมผสานกันในหลายภาคส่วน เราต้องยอมรับว่ายาเสพติดเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เป็นซ้ำได้ ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจการดูแลก็จะป้องกันการเป็นซ้ำได้มากขึ้น แต่ถ้าบอกว่าหมอต้องรักษาหาย แต่พอกลับมาเป็นบ้าอีก ก็โทษหมอ ไม่โทษตัวเอง ชุมชนหรือครอบครัว เพราะสิ่งที่จะป้องกันการเป็นซ้ำมากที่สุดคือการทำอย่างไรไม่ให้เขากลับไปเสพ ซึ่งนั่นไม่ใช่หน้าที่ สธ.โดยตรงแต่เราไม่ปฏิเสธหน้าที่ เพราะเราก็มีส่วนร่วมในการเป็นชุมชนป้องกันเรื่องยาเสพติดด้วย” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า กฎหมายมอบหน้าที่ให้ สธ.โดยตรงในการออกกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดจำนวนการครอบครองยาเสพติดให้โทษเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า คาดว่าจะได้ประกาศใช้ช่วงเดือน ธ.ค. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแยกแยะพฤติกรรมการเข้าข่ายว่าถือครองกี่เม็ดเป็นผู้เสพหรือเป็นผู้ค้า ขณะนี้ สธ. กำลังให้คณะกรรมการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดำเนินการตามขั้นตอนการประกาศเป็นกฎกระทรวง โดยมีข้อสรุปว่าการครอบครองยาบ้าน้อยกว่า 10 เม็ดให้ถือเป็นผู้เสพ ที่ต้องได้รับการบำบัดในฐานะผู้ป่วย แต่ถือครองมากกว่า 10 เม็ดให้ถือเป็นผู้ค้า ซึ่งจะต้องได้รับการบำบัดพร้อมกับการดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เมื่อถามว่าทำไมจะต้องกำหนดที่ 10 เม็ด นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราใช้เหตุผลในทุกมิติรองรับ ทั้งด้านการแพทย์ เรื่องฤทธิ์ของยา มิติทางด้านเศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมายและพฤติกรรมของการเป็นผู้ค้าที่ส่วนใหญ่จะทำบรรจุห่อละ 10 เม็ด อย่างไรก็ตาม เมื่อตำรวจตรวจพบผู้ครอบครองยาบ้าแล้ว ก็จะต้องมีการสืบสวนคดีต่อไป เพราะถ้าเป็นการครอบครอง 1 เม็ดแต่หากมีพฤติกรรมเป็นการค้า ก็จะถือว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: