นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งหนังสือเชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน สำนักงานอัยการสูงสุด ฯลฯ เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว อยู่ระหว่างรออนุมัติอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานต้นสังกัด อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ได้ศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครู ในช่วงที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ดำเนินการไว้ ซึ่งมีการลงพื้นที่ มีข้อมูลที่สามารถนำมาต่อยอดได้เลยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทั้งนี้ การแก้การแก้ปัญหาหนี้สินครูจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ สีเขียวคือครูที่มีสภาพคล่อง สีเหลืองคือครูที่มีหนี้บ้างเล็กน้อย และสีแดงคือเป็นหนี้เสีย อาจถูกฟ้องล้มละลาย ซึ่งเมื่อมีการตั้งคณะอนุกรรมการฯเรียบร้อยแล้ว จะมีการหารือเพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาในแต่ละกลุ่มต่อไป คาดว่าจะได้ชื่อคณะอนุกรรมการฯครบ และเริ่มนัดประชุมอย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า เบื้องต้นต้องมีการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน เพื่อปรับพฤติกรรมทางการเงินของครูและบุคลากรทางการศึกษา การเจรจาลดดอกเบี้ยจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ หากลดได้ก็จะทำให้ครูมีเงินเหลือมากขึ้น ขณะเดียวกันอาจจะต้องมาทบทวน มาตรการหักเงินเดือน ตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ข้อ 7 (5) ที่บัญญัติให้ การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือน ซึ่งออกมาเมื่อปี 2555 นั้น ในทางปฏิบัติพบว่าบางหน่วยงานมีการหักเงินนอกรอบ มีการกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่น หรือไปกู้นอกระบบเพื่อมาโปะหนี้เพิ่ม ดังนั้นจึงคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำข้อมูลสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศเข้าเครดิตบูโร เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้กู้แต่ละราย ประกอบการพิจารณาปล่อยกู้ เนื่องจากที่ผ่านมาข้อมูลการกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์จะไม่ปรากฏในฐานข้อมูลเครดิตบูโร
“เรื่องนี้ มีข้อดี และเสีย ซึ่งข้อเสนอนี้ ก็มีผู้แย้งมาว่า หากนำข้อมูลดังกล่าวเข้าระบบเครดิตบูโร ก็อาจทำให้ครูขาดความน่าเชื่อถือ ตรงนี้ก็ต้องมาหาแนวทางแก้ปัญหาที่รอบคอบ ซึ่งแนวทางที่ผมวางไว้คงไม่ใช่การนำเงินหลวงเพื่อมาช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครู สิ่งที่ทำได้คือการเจรจาลดดอกเบี้ย รวมหนี้รีไฟแนนซ์ โดยจะเจรจาปรับลดดอกเบี้ยให้เหลือน้อยที่สุด แต่คงไม่สามารถไปบังคับให้สหกรณ์ออมทรัพย์ลดดอกเบี้ยได้ทุกแห่ง ดังนั้นอาจจะมีการเปิดช่องให้ครูเลือกกู้สหกรณ์ข้ามจังหวัดได้ เพื่อให้ครูมีโอกาสกู้ในสหกรณ์ที่มีดอกเบี้ยน้อยที่สุด แนวทางนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ คงต้องมาดูรายละเอียดเพื่อวางมาตรการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ การแก้ปัญหาหนี้สินครูจะเริ่มแก้ให้กับผู้ที่เป็นหนี้ในระบบก่อน ส่วนนอกระบบคงเป็นเรื่องที่จะดำเนินการในลำดับต่อไป” นายสุรศักดิ์กล่าว
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ