“สมาคมชาวนา”ยื่น 7 ข้อเสนอรัฐ แลกยกเลิกแผนช่วยปลูกข้าวไร่ละ1,000





หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบวงเงิน จำนวน 56,321.07 ล้านบาท สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดยมีเป้าหมายเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2556/67 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ผ่านการจ่ายเงินให้เกษตรกร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาทมาตรการดังกล่าวแม้ชาวนาจะได้รับประโยชน์เป็นเงินจ่ายตรงแต่ในทางปฎิบัติมีข้อสังเกตถึงข้อจำกัดและข้อควรระวังเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ กระทั่งมีแนวโน้มว่าในระยะยาวอาจต้องยกเลิกมาตรการนี้ไปในที่สุด

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่ามาตรการช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท นั้นเป็นประโยชน์ต่อชาวนาโดยตรงต่อชาวนา 4.7 ล้านครัวเรือน เช่นเดียวกับโครงการชะลอการขายที่เป็นยุ้งฉางที่เป็นของชาวนาเอง สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวนา

หากรัฐบาลมีแนวโน้มจะยกเลิก มาตรการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลอัตราไร่ละ 1,000 บาท โดยอ้างว่าเพื่อ ไม่ให้เป็นภาระต่อภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือดูแล และชดเชยเกินความจำเป็นนั้น ทางสมาคมฯก็ไม่ขัดข้อง เพราะรัฐบาลคงไม่สามารถจะอุดหนุนเกษตรกรชาวนาไปได้ตลอด ในขณะที่ชาวนาต้องการที่จะยืนได้ด้วยตัวเองแต่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนชาวนาตามข้อเรียกร้อง 7 ข้อที่เสนอมาโดยตลอด

สำหรับข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1. ขยายแหล่งน้ำให้ทั่วถึง 2. พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง อย่างน้อยต้องให้ผลผลิตข้าวแห้งไม่น้อยกว่า 1,000 กิโลกรัม (กก.)ต่อไร่ ที่ความชื้นไม่เกิน 15% หรือข้าวเกี่ยวสด ต้องไม่ต่ำกว่า1,300 กก.ต่อไร่ อายุการเพาะปลูก 95-100 วัน

3. การลดต้นทุนการผลิต ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศรัตรูพืช เป็นต้น 4.มาตรการรับมือภัยแล้ง 5. เรื่องการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวนา 6.เรื่องปัญหาค่าเช่าพื้นที่ทำนา เป็นจำนวนเงินที่สูง 7.ให้รัฐผลักดันเรื่องสวัสดิการชาวนา การคุ้มครองและการช่วยเหลือชาวนาผู้สูงอายุ

พันธุ์ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ชาวนา

“อยากถามไปยังหน่วยงานราชการที่บอกว่าข้าวของไทยพันธุ์ปัจจุบันที่ใช้กันอยู่นั้นให้ผลผลิตสูง นั้นอยู่ที่ใดเกษตรกรจะได้นำมาปลูกบ้าง เพราะหากเป็นอย่างนั้นจริง ชาวนาคงไม่ต้องดิ้นรนไปนำพันธุ์เพื่อนบ้านมาปลูก ไม่อยากให้หน่วยงานราชการเอาตัวเลขในแปลงทดลองมาพูดว่าได้ผลผลิตสูง เพราะไม่ตรงปก ในความเป็นจริงที่ชาวนานำมาปลูกไม่ได้ผลผลิตเหมือนในแปลงทดลอง “

นอกจากนี้ แนวคิดของกรมการข้าวที่จะสร้างไซโล เก็บข้าว 3,000 ล้านบาทนัั้นไม่มีความเหมาะสม แต่ควรนำงบประมาณดังกล่าวมาปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าวแทน รวมทั้งเงินช่วยเหลือต่างๆที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อชาวนาโดยตรง ควรจะตัดทิ้งออกไปบ้าง แล้วเอาทำประโยชน์แก่ชาวนา ทั้งเรื่องน้ำ และ พันธุ์ข้าว

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมการข้าว มีแนวทางในการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้คุณภาพ โดยในพื้นที่จังหวัดหนองคายและบึงกาฬ มีศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย ได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ข้าวคุณภาพดี จำนวนหลายพันธุ์ อาทิ ข่าวเหนียวพันธุ์ กข 22 ผลผลิตเฉลี่ย 684 กิโลกรัมต่อไร่ และข้าวเจ้าคุณภาพพิเศษ พันธุ์ กข83 (มะลิดำหนองคาย 62) ผลผลิตเฉลี่ย 640 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นต้น ซึ่งการปรับปรุงเมล็ดข้าวพันธุ์ดี จะทำให้ชาวนามีผลผลิตข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้น และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในราคาที่สูงขึ้นอีกด้วย

ข้าวนาหว่านทำพันธุ์ข้าวอ่อนแอ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดงานรณรงค์การใช้เมล็ดพันธุ์ดีและลดต้นทุนการผลิต ภายใต้โครงการส่งเสริมศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ว่าไทยเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของโลก มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 59 ล้านไร่

ปัจจุบันการปลูกข้าวนิยมใช้วิธีหว่านมากขึ้น เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรเก็บไว้ใช้จึงมีคุณภาพด้อยลงและกระทบต่อคุณภาพข้าวที่เกษตรกรผลิตลดลงไปด้วยซึ่งทำให้เกษตรกรมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีต้นทุนการผลิตสูง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และเป็นแหล่งเรียนรู้

ด้านการผลิตข้าวและเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี โดยเน้นการลดต้นทุนการผลิตข้าว การจัดงานรณรงค์การใช้เมล็ดพันธุ์ดีและลดต้นทุนการผลิตในครั้งนี้ เป็นมาตรการที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรในปัจจุบันที่ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่และค่าตอบแทนต่ำ ให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น

เปิดข้อสังเกตคลัง-สำนักงบฯ

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2556/67 สำหรับกรอบวงเงินที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยคำนึงถึงขอบเขตที่รัฐสามารถรับภาระได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากข้อจำกัดของกรอบวงเงินตามมาตรา 28 ดังกล่าว โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: