ยื่นภาษีปี 2567 ขอคืนภาษี ได้เงินเร็วสุดภายในกี่วัน เปิดวิธีเช็กสถานะการคืนเงินภาษี





10 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. โดยผู้ยื่นแบบเอกสารหรือกระดาษ ผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่งใกล้บ้าน ยื่นได้ถึงสิ้นเดือน มี.ค. ส่วนการยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ให้ถึงวันที่ 9 เม.ย. 2567

สำหรับผู้ที่มีสิทธิจะได้เงินภาษีคืนจะต้องถูกหักภาษีเกินกว่าที่ต้องจ่าย ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปล่วงหน้า เมื่อคำนวณภาษีเรียบร้อยแล้ว สามารถยื่นขอเงินภาษีคืนได้ โดยมีรายละเอียด และช่องทางการติดตามสถานะคืนเงิน โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมมาให้ดังนี้

เช็กสถานะคืนเงินภาษี

1. เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th

2. เลือกเมนู My Tax Account ตรวจสอบข้อมูลทางภาษี

3.กรอกข้อมูลเพื่อเข้าระบบ ใส่เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขบัตรประจำตัวประชาชน) และรหัสผ่านเดียวกันกับระบบ e-Filing ใส่เลข Laser ID หลังบัตรประชาชนและกด “เข้าสู่ระบบ”

4. หน้าจอจะปรากฏให้ยืนยันตัวตน ระบบจะส่งรหัส OTP พร้อมรหัสอ้างอิงไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบบได้ให้ไว้ กรอกเลขรหัสที่ได้รับภายในเวลา 5 นาที

5. ติดตามสถานะและส่งเอกสาร

นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบสถานะคืนเงินภาษีได้อีก 2 ช่องทาง ได้แก่

  • ศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร (RD Call Center) : 1161
  • สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏตามการยื่นแบบ

เคล็ดลับได้เงินคืนภาษีให้รวดเร็วขึ้น

สิ่งสำคัญเวลายื่นภาษีคือ ความถูกต้องครบถ้วนของเอกสาร และ ช่องทางการรับเงินคืนภาษี เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว สิ่งที่เราต้องคอยตรวจสอบและเตรียมพร้อมตั้งแต่ต้นปีจะมีทั้งหมด 3 ข้อ

1. เตรียมความพร้อมด้านเอกสารหลักฐาน

เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันตัวเลขรายรับ รายจ่าย ค่าลดหย่อนต่าง ๆ หากยื่นเอกสารไม่ครบถ้วน ตามตัวเลขที่แจ้งไว้ ทางสรรพกรก็อาจขอเรียกดูเอกสารเพิ่มเติม และใช้เวลานานขึ้นกว่าที่ได้รับคืนเงินภาษี

เอกสารที่ควรเตรียมพร้อมทุกครั้งที่ยื่นภาษีมีดังนี้

  • หนังสือรับรองเงินเดือน
  • การหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบทวิ 50)
  • ข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับค่าลดหย่อน

2.อัพโหลดเอกสารเพิ่มเติมบนเว็บไซต์กรมสรรพากร

เมื่อมียอดภาษีที่ถูกหักไว้มากกว่าจำนวนภาษีที่คำนวณได้ จะต้องมีนำส่งเอกสารให้สรรพากรเพิ่มเติม

โดยเข้าไปที่ระบบ E-Refund แล้วคลิกที่ “นำส่งเอกสารประกอบพิจารณาการคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” แล้วอัพโหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องเข้าไป

โดยการอัพโหลดเอกสารต้องไฟล์สามารถ Upload ได้จะต้องเป็นสกุล JPG, BMP, PNG, TIFF, PDF ที่ขนาดของไฟล์ไม่เกิน 3 MB ขนาดของไฟล์รวมกันแต่ละครั้งไม่เกิน 20 MB และสามารถนำส่งได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทั้งนี้ ระบบไม่รองรับไฟล์ PDF ที่มี Password นั่นเอง

3. รับผ่านพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน

หากผู้เสียภาษีผูกพร้อมเพย์กับบัญชีธนาคาร โดยต้องทำการเชื่อมพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน และหากผ่านการพิจารณาคืนภาษี กรมสรรพากรก็จะโอนเงินภาษีนั้นคืนใน 3-5 วันทำการ

หากไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ไว้ ทางสรรพากรจะออกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษี (ค.21) ส่งทางไปรษณีย์ สำหรับเป็นหลักฐานเพื่อนำไปติดต่อรับเงินคืนได้ที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้เวลาประมาณ 15 วัน

กรณีที่ยื่นขอคืนเงินภาษีไปแล้ว แต่พบว่ายอดคืนภาษีไม่ตรงกับยอดที่ยื่นไปที่ควรจะได้รับ และไม่เห็นด้วย ก็สามารถอุทธรณ์ต่อกรมสรรพากรได้เช่นกัน

ช่องทางขอเงินภาษีคืน

  • บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก
  • บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  • ผู้ขอคืนที่ไม่สามารถลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก กรมสรรพากรจะออกหนังสือ ค.21 (หนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) พร้อมเช็ก โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ตามที่อยู่บนแบบแสดงรายการให้ผู้ขอคืน เพื่อนำไปเข้าบัญชีเงินฝากที่สาขาธนาคารเท่านั้น

สรรพากร แจง ระยะเวลาขอรับเงินคืนภาษี

ทั้งนี้ นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เผยถึงกรณีการขอคืนภาษี จะสามารถได้รับเงินคืนเร็วสุดกี่วัน โดยจะขึ้นอยู่เกณฑ์ความเสี่ยงของผู้ยื่น หากไม่พบปัญหา จะได้คืนภาษีภายใน 3-4 วัน

“ในปีนี้มีคนขอยื่นภาษีเยอะ เรามีการวิเคราะห์ข้อมูล ผ่าน data analytics ของกรมสรรพากร หากผู้ยื่นไม่มีข้อมูลซับซ้อน แล้วก็ไม่เข้าเกณฑ์ความเสี่ยง ก็จะได้รับเงินคืนเร็วแน่นอน” นายวินิจกล่าว

 

ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: