จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งในรายละเอียดมีการกำหนดหน่วยการใช้ และปริมาณการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1, 2 หรือ 5 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ เช่น แอมเฟตามีน ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ เฮโรอีน 300 มิลลิกรัม แอลเอสดี 100 มิลลิกรัม เป็นต้น หลังจากนั้น เกิดมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวางว่า ไม่ควรเปิดช่องให้เกิดการครอบครองไว้เพื่อเสพนั้น
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. เปิดเผยกับ “มติชน” ถึงกรณีดังกล่าวว่า ตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว การจะออกประกาศกฎกระทรวงใดๆ จะต้องมีการพิจารณาร่วมกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนพิจารณาเห็นชอบออกประกาศกฎกระทรวงนั้นๆ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการพิจารณาร่วมกันกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ส. โดยทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน และนำเสนอต่อ ครม. หลังจากได้รับความเห็นชอบแล้ว จึงมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
นพ.ชลน่านกล่าวว่า จากการหารือร่วมกัน ได้มีมติในการกำหนดปริมาณหน่วยการใช้ยาเสพติด หรือการครอบครองเพื่อเสพ อย่างแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า ที่ สธ. เคยเสนอไปที่ 10 หน่วยการใช้ แต่เมื่อมีการประชุมร่วมกัน มีการพิจารณาเห็นชอบตัวเลขเหลือไว้ที่ 5 เม็ด แต่ในขั้นตอนปฏิบัติ เจ้าหน้าที่จะต้องดูปัจจัยอื่นร่วมด้วยว่าเป็นการครอบครองไว้เพื่อเสพหรือเพื่อจำหน่าย
“เจตนารมณ์ของประกาศกฎกระทรวงนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ในมาตรา 24 วรรคสอง และมาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ต้องการแยกผู้เสพกับผู้จำหน่ายยาเสพติด โดยกำหนดให้ผู้เสพถือเป็นผู้ป่วย ที่หากสมัครใจเข้ารับการบำบัด ก็จะหายจากการใช้ยาเสพติดได้ ดังนั้น กฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในการออกประกาศกฎกระทรวงในเรื่องนี้ เป็นที่มาของการกำหนดว่า หากครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการครอบครองเพื่อเสพ แต่ก็ต้องดูปัจจัยแวดล้อมด้วยว่า เป็นการครอบครองเพื่อเสพหรือเพื่อจำหน่าย เพราะการครอบครองเพื่อจำหน่ายจะมีโทษสูงกว่า ส่วนการครอบครองเพื่อเสพนั้น จะให้ถือว่าเป็นผู้ป่วยและจะต้องเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา หากบำบัดจนครบคอร์สแล้ว ก็จะถือว่าผ่านการบำบัดยาเสพติด ผู้นั้นก็ไม่ต้องรับโทษในฐานครอบครองยาเสพติด” นพ.ชลน่านกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หลายคนเข้าใจว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการกำหนดปริมาณการครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากก่อนหน้านี้ เรามีกฎหมายเรื่องยาเสพติด คือ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ พ.ศ.2522 ที่มีการกำหนดปริมาณหน่วยการใช้ไว้ เช่น แอมเฟตามีน มากกว่า 15 หน่วยการใช้ ให้ถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย น้อยกว่านั้นให้สันนิษฐานว่า เป็นการครอบครองไว้เพื่อเสพ ซึ่งโทษจะน้อยกว่า หรืออย่างเฮโรอีน ก็มีการกำหนดไว้ว่า ครอบครองมากกว่า 300 มิลลิกรัม ก็ถือเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่ายเช่นกัน ซึ่งโทษจะหนักกว่าการครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพ
รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวต่อไปว่า จากนั้นในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการใช้อำนาจออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณากำหนดปริมาณหน่วยการใช้ยาเสพติดไว้เพื่อเสพที่ 5 เม็ด ต่อมา ก็มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มาเป็น รัฐมนตรีว่าการ สธ. โดยในปี 2564 มีการออกกฎหมายใหม่ เป็น พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการ สธ. กำหนดหน่วยการใช้เพื่อเสพ ซึ่งขณะนั้นมีการเสนอให้กำหนด 1 เม็ด คือ ผู้ป่วย มากกว่า 1 เม็ด คือ ผู้จำหน่าย แต่ครั้งนั้นไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และเมื่อตนมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ. ก็ได้มาพิจารณาเรื่องนี้ จนมาเป็นข้อสรุปที่การสันนิษฐานไว้เพื่อเสพ คือ การครอบครองยาเสพติด เช่น ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในการออกประกาศกฎกระทรวงนี้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตนเข้าใจถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และหน้าที่ของตน คือ การอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ