19 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ที่เกี่ยวกับการพิจารณาขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไป ยืนยันว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ จึงมอบหมายให้อธิบดีกรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจน เหตุผลที่จะต้องมีการศึกษา คือ 1.เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 พ.ศ.2515 ซึ่งเสมือนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต้องปฏิบัติตาม 2.พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และ 3.พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ของกระทรวงมหาดไทย นอกจากนั้น ยังรวมถึงกฎกระทรวงที่ออกมารองรับประกาศคณะปฏิวัติและกฎกระทรวงต่างๆ ที่ออกมาเป็นประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวกับการกำหนดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ต้องดูกฎหมายเหล่านี้ เพราะมีการบังคับเอาไว้ว่า คณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีมติอย่างไรนั้น จะต้องมีการศึกษาความเกี่ยวพันของกฎหมายด้วย
นพ.ชลน่านกล่าวว่า 2.ต้องศึกษามิติทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสุขภาพ โดยคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสุขภาพเป็นอย่างไร อาจมีข้อมูลข้อเท็จจริงบ้างแต่ยังไม่สามารถนำข้อมูลมาตัดสินได้ เช่น ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ตัวแทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอว่า รายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย 1.2 ล้านล้านบาท แต่ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากเครื่องดื่มและอาหาร 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 6 เท่านั้นเอง แต่ยังสรุปได้ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่อย่างไร จึงจำเป็นต้องศึกษาก่อน ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพที่มีการเก็บสถิติใน 5 พื้นที่ที่กำหนดให้มีการขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4 คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี พบว่า มีสถิติของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นแต่ต้องไปศึกษาในรายละเอียดมากขึ้นเพื่อนำมาตัดสินว่าจะขยายหรือไม่ขยาย
“มติของคณะกรรมการชัดเจนว่า ถ้ายังไม่มีข้อสนับสนุนที่ดีพอ ทั้งกฎหมายที่ใช้บังคับใช้และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ เราในฐานะคณะกรรมการที่ดูแลมิติสุขภาพ ก็ต้องพยามดูข้อมูลทุกอย่างว่ามาหักล้างมิติทางเศรษฐกิจได้หรือไม่” นพ.ชลน่านกล่าว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4432884
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ