4 มี.ค.2567 พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เรื่อง ขออุทธรณ์ผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการด้านมั่นคงฯ ที่มีมติให้ปรับลดงบประมาณ โครงการจัดหาเรือฟริเกต จำนวน 1 ลำ ที่เสนอขอรับงบประมาณปี 2567 จำนวน 1.7 พันล้านบาท
ระบุว่า กองทัพเรือทราบถึงสถานการณ์ด้านงบประมาณที่จำกัดของประเทศ ที่จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ตามความจำเป็นด้านต่างๆ แต่ด้วยภารกิจและหน้าที่กองทัพเรือที่ต้องเตรียมกำลังกองทัพเรือในการรักษาอธิปไตย ป้องกันราชอาณาจักร รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และช่วยเหลือประชาชน
ปัจจุบันกองทัพเรือ มีกำลังทางเรือและขีดความสามารถที่จำกัด อันเป็นเหตุให้ความมั่นคง อธิปไตยของชาติ และผลประโยชน์ที่ประชาชนพึงจะได้รับจากการทำหน้าที่ของกองทัพเรือ ต้องได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นยังส่งข้อมูลให้ทางสำนักงบประมาณกระทรวงกลาโหม เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ในวันที่ 5 มี.ค.นี้ด้วย
เมื่อคณะอนุกรรมาธิการความมั่นคงฯ แขวนงบฯ ดังกล่าวไว้ ทางกองทัพเรือก็ต้องชี้แจง เพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งที่ผ่านมากรรมาธิการฝ่ายค้านก็ไม่เห็นด้วยกับการตัดงบฯ ส่วนนี้ไปแขวนอยู่ในงบกลาง เพราะจะไม่รู้รายละเอียดต่างๆ ในการใช้ และส่วนหนึ่งอาจถูกนำไปใช้ในโครงการใหญ่ของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผบ.ทร.ได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในชั้นกรรมาธิการตั้งแต่ต้น เกี่ยวกับนโยบายการเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเรือ เนื่องจากเรือฟริเกตที่ประจำการอยู่เหลือแค่ 4 ลำใกล้ปลดประจำการ ได้แก่ รล.ตากสิน (ประจำการครบ 40 ปี ในปี 78) รล.นเรศวร (ประจำการครบ 40 ปี ในปี 77) รล.รัตนโกสินทร์ (ปลดประจำการปี 69 ) และ รล.ภูมิพล ที่เข้าประการได้กว่า 5 ปี
ถ้าไม่จัดหาในปีนี้อาจไม่ทันเรือฟริเกตที่กำลังจะปลดประจำการในอนาคต โดยเน้นย้ำนโยบายการต่อเรือในประเทศ โดยมีบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามาร่วมทุน และถ่ายทอดเทคโนโลยี
“ในปีนี้เราขอความกรุณาให้กองทัพเรือ ได้ใช้ของดีๆ เรายินดีที่จะกินมาม่า” ผบ.ทร. กล่าวในกมธ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพเรือได้รับอนุมัติโครงกาจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูง จำนวน 2 ลำ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และจัดหาแล้ว 1 ลำ คือ เรือหลวงภูมิพลฯ จากประเทศเกาหลีใต้ แต่เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ และถูกตัดงบฯ ช่วงโควิด-19 ประกอบกับยังติดปัญหาคาราคาซังในโครงการจัดเรือดำน้ำจากจีน ทำให้กองทัพเรือชะลอการจัดหาลำที่ 2 ออกไป
แต่หลังสถานการณ์โควิด-19 ในยุคพล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร.ได้เดินหน้าจัดหาโครงการฟริเกตลำที่ 2 วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ผูกพันงบฯ 5 ปี เริ่มงบฯ ตั้งต้นในปี 2567 วงเงิน 1.7 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของทั้งโครงการ และได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ชุดนี้แล้ว
มีรายงานด้วยว่า การต่อเรือในประเทศครั้งนี้ กองทัพเรือเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุนเข้ามาประมูล เช่น บริษัท Damen ของฮอลแลนด์ บริษัท Thyssenkrupp Marine System ของเยอรมัน
นอกจากนั้น ยังมีบริษัทจากเกาหลีใต้ ตรุกี อิตาลี สเปน โดยจะมีอู่ต่อเรือเอกชนในประเทศไทยเป็นพาร์ทเนอร์วมดำเนินการ เช่น มาร์ซัน ล็อกซ์เล่ย์ แต่ในเบื้องต้นบริษัทชั้นนำเหล่านั้นจะลงทุนในการปรับปรุงพัฒนาอู่เรือของไทยให้มีศักยภาพรองรับการต่อเรือสมรรถนะสูง รวมถึงการสร้างโมดูลเรือเป็นส่วนๆ เพื่อนำมาประกอบใน 3 โมดูลแรก และให้อู่ต่อเรือไทยต่อจนครบ 6 โมดูล โดยมีเป้าหมายให้อู่ต่อเรือของไทย เพื่อรองรับการร่วมทุนต่อเรือเองในอนาคต
สำหรับเรือที่จะต่อขึ้นนั้น เป็นไปตามมาตรฐานของเรือชั้นที่ผลิตในประเทศดังกล่าว โดยมีเทคโนโยลีซ่อนพลาง และมีระบบอำนวยการรบที่มีประสิทธิสูงกว่าเรือภูมิพล รวมระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบ 3 มิติที่ทันสมัย
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ