กรมควบคุมโรค ค้านสุดตัว ร่าง พ.ร.บ.น้ำเมา ฉบับประชาชน





ตรวจสอบเอกสาร ด่วนที่สุด ที่ นร 0912/16 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ร่าง พ.ร.บ. ที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ… เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นบันทึกคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของภาครัฐ (เรื่องเสร็จที่ 1673/2564)

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับ ประชาชนทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่

  • ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ
  • ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ
  • ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 67 โดยมีหน่วยงานที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม โดยกระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ สรุปได้ดังต่อไปนี้

กรมควบคุมโรค ไม่เห็นด้วยในหลักการของ ร่างพ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ

โดยร่างพ.ร.บ. ที่เสนอโดยนายเจริญฯ และร่างพ.ร.บ. ที่เสนอโดยนายเท่าพิภพฯ มีสาระสำคัญเป็นการผ่อนคลายความเข้มงวดของการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้บางมาตรการที่เสนอขอแก้ไขขัดกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ต้องการคุ้มครองสุขภาพและอนามัยของประชาชนที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง การอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษาซึ่งขัดต่อหลักการคุ้มครองมิให้เด็กหรือเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย

ส่วนร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดยนายธีรภัทร์ฯ มีสาระสำคัญเป็นการเพิ่มความเข้มงวดของการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งอาจเกินขอบเขตของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และสมควรเป็นประเด็นพิจารณาตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต

ตลอดจนมีหลักการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบกามากจนเกินไป เช่น การกำหนดความรับผิดชอบของผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขายโดยฝ่าผืนกฎหมายในกรณีที่ผู้ซื้อไปดื่มเป็นผู้ควบคุมหรือขับขี่ยานพาหนะและก่อให้เกิดอุบัติเหตุการกำหนดให้มีการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขายสุราและจ่ายค่าปรับทางปกครองกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้น กรมควบคุมโรคจึงขอยืนยันร่างพ.ร.บ. ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข

ในส่วนร่างที่เสนอโดยนายธีรภัทร์ฯ ที่เป็นประโยชน์และอาจจะรับมาพิจารณา เช่น การกำหนดจำนวนครั้งในการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์การกำหนดตัวบุคคลที่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้กรณีห้ามขายให้แก่สตรีมีครรภ์

นอกจากนี้มีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้

1.การกำหนดมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมจะต้องเป็นไปตามบริบทสังคมและพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละประเทศ เช่น รัสเชียที่เคยสนับสนุนการผลิตขาย และดื่มวอดก้าซึ่งเป็นเครื่องดื่มประจำชาติ ต่อมามื่อมีปัญหาพลเมืองติดแอลกอฮอล์เรื้อรังและเป็นโรคเกี่ยวกับตับก็หยุดการส่งเสริมดังกล่าว สหรัฐอมริกาแม้จะให้โฆษณาได้อย่างเสรี แต่มีกฎหมายกำหนดโทษทางอาญาในกรณีดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกสถานที่ที่กำหนด

รวมทั้งเก็บภาษีธุรกิจที่ขายและมีสถานที่ให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอัตราที่สูงกว่าภาษีของธุรกิจที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งส่งผลให้การบังคับใช้เป็นการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยปริยายแม้หลักการของกฎหมายจะค่อนไปในทางเสรี

2.ร่างพ.ร.บ. ของกรมควบคุมโรคได้ปรับแก้ไขในส่วนของการควบคุมการโฆษณา การสื่อสารการตลาดเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาในปัจจุบัน เนื่องจากการโฆษณาและการสื่อสารการตลาดมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ตลอดจนปัจจุบันมีการสื่อสารการตลาดหลายรูปแบบ เช่น การใช้ Influencer จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายในประเด็นดังกล่าว

3.ผลการใช้บังคับกฎหมายที่ผ่านมา กลไกคณะกรรมการต่าง ๆ มีประสิทธิผล จึงต้องคงกลไกดังกล่าวไว้ โดยปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเกิดจากการกำกับติดตามงานและความคืบหน้าของงานในระดับพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการใช้บังคับกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าจะเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างหรือกลไกตามกฎหมาย

ปัจจุบัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยังไม่ได้ดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ภายในระยะเวลาที่พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 กำหนดให้ต้องดำเนินการ โดยมีการขอขยายระยะเวลาไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2568

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้เคยจัดรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายๆเมื่อปี พ.ศ. 2562 ซึ่งจากผลการรับฟังปรากฎว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มีผลทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดีขึ้น ลดอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลกระทบด้านลบ ตลอดจนการป้องกันเด็กและเยาวชน

โดยกรมควบคุมโรคได้นำความคิดเห็นที่ได้รับฟังมาจัดทำร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.

 

ข่าวจาก : thansettakij

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: