ศาลปกครองสูงสุดฯ รับ ‘คำฟ้อง’ เพิกถอน ควบทรูดีแทค – ทรู





(25 มี.ค.) ศาลปกครองสูงสุดได้กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยให้รับคำฟ้องของผู้บริโภค 5 รายในคดีขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กรณีรับทราบการควบรวม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค และขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช.กำหนดมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ไว้พิจารณา

ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่าแม้การยื่นฟ้องคดีจะพ้นกำหนดระยะเวลาฟ้องคดีแล้ว แต่คดีนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องของผู้บริโภคทั้ง 5 รายไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ

ข้อเท็จจริงของคดีปรากฎว่า กสทช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 27(11) (24) และมาตรา 81 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ประกอบมาตรา 21 และมาตรา 22 (3) (4) (5) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560

เดิมมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 รับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่ม บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส และผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่มบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัดได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ กสทช. จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศและมติของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว

การที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 อ้างว่าประกาศ กสทช. ทั้งการออกมาตรการ กำกับดูแลการควบรวมรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และ การรับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทคไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ทรูกลายเป็นผู้ดำเนินกิจการที่อยู่เหนือตลาด หรือดำเนินกิจการโทรคมนาคมเพียงรายเดียว ย่อมจะส่งผลให้อัตราค่าบริการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และย่อมส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเลือกรับ หรือตัดสินใจในการรับบริการโทรคมนาคมได้ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเสี่ยงได้

“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยว กับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้ง การลงทุนในการ ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรือ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม จึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย ทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติการที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมีผลกระทบต่อ ประชาชนผู้ใช้บริการในวงกว้างด้วย”

ข้อพิพาทในคดีนี้จึงต้องถือว่า เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องนี้ของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไว้พิจารณาพิพากษาได้

ทรูออกเอกสารแจงทันควัน

รายงานข่าวแจ้งว่า ฝ่ายสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ของ ทรู ได้ส่งเอกสารชี้แจงว่าคดีนี้เป็นเรื่องเดิมที่ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องกรณีพิพาทระหว่างผู้บริโภค 5 ราย (ผู้ฟ้องคดี) กับ กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ซึ่งคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวเป็นเพียงการสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องข้างต้นของผู้บริโภคดังกล่าว ไว้พิจารณาต่อไปตามรูปคดีเท่านั้น

บริษัทฯขอชี้แจงว่า การฟ้องคดีดังกล่าวเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภค 5 ราย กับ กสทช. มั่นใจว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจใดๆ ของบริษัทฯ ซึ่งการควบรวมระหว่าง ทรูดีแทคได้เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้ว และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและเหมือนกับกระบวนการควบรวมธุรกิจที่ผ่านมาของบริษัทมหาชนซึ่งประกอบธุรกิจโทรคมนาคม

ทั้งนี้ คดีที่ผู้บริโภค 5 รายได้ยื่นฟ้อง กสทช.ดังกล่าวเป็นคดีที่มีประเด็นเดียวกันกับคดีที่ศาลปกครองชั้นต้นได้เคยมีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวโดยศาลเห็นว่า มติรับทราบการควบรวมบริษัทของ กสทช. ได้อาศัยอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว จึงไม่มีเหตุรับฟังได้ว่ามติรับทราบการควบรวมธุรกิจของกสทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข่าวจาก : bangkokbiznews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: