ลูกจ้างต้องได้หยุดทุกคนไม่มีข้อยกเว้น ทั้งรายวัน รายเดือน ถ้านายจ้างให้ทำงานต้องได้ค่าแรงเพิ่ม 1 เท่า จะเลื่อนไปหยุดวันอื่นก็ไม่ได้
วันแรงงาน หากไม่มาทำงานนายจ้างจะไม่จ่ายค่าจ้าง โดยอ้างว่าเป็นวันหยุดได้หรือไม่
หากไม่มาทำงานนายจ้างจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรายวัน หรือรายเดือน แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว จะอ้างว่าเป็นวันแรงงานซึ่งเป็นวันหยุดไม่ได้ เพราะกฎหมายมาตรา 29 กำหนดว่า “ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” ซึ่งรัฐมนตรีประกาศให้วันแรงงานคือวันที่ 1 พฤษภาคม
นั่นหมายความว่ากฎหมายบังคับให้ต้องจัดให้วันแรงงานเป็นวันหยุดตามประเพณี ไม่จัดไม่ได้ หากไม่จัดให้หยุดมาตรา 146 กำหนดให้นายจ้างผู้ซึ่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา 29 ต้องระวางโทษทางอาญา ซึ่งลูกจ้างสามารถร้องต่อแรงงานโดยไม่เปิดเผยชื่อนามสกุลของผู้ร้องได้ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่
มีปัญหาว่าหากนายจ้างจัดให้หยุดแล้ว นายจ้างจะอ้างว่าเมื่อไม่มาทำงานก็ไม่จ่ายค่าจ้างหรือ no work no pay ได้หรือไม่ คำตอบ คือไม่ได้ ต้องจ่ายค่าจ้างเพราะมาตรา 56 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทั้งรายวันและรายเดือนใน “วันแรงงาน” ซึ่งเป็นวันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี (ลาพักร้อน)
หากนายจ้างให้มาทำงานใน วันแรงงาน ต้องได้ค่าแรงเท่าไหร่
หากนายจ้างให้มาทำงานในวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มอีก 1 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ (ตามมาตรา 61) เช่น ลูกจ้างทำงานได้ค่าจ้างวันละ 400 บาท นายจ้างต้องจัดให้หยุดวันแรงงานโดยไม่ต้องมาทำงาน หากนายจ้างให้มาทำงานในวันแรงงานจะต้องจ่าย 1 เท่า คือ 400 บาท เท่ากับว่าถึงเวลาจ่ายค่าจ้างต้องได้ 800 บาท
หากนายจ้างให้มาทำงานใน วันแรงงาน นอกเหนือหรือเกินเวลาทำงาน ต้องได้โอทีเท่าไหร่
หากนายจ้างให้ทำงานนอกเหนือหรือเกินเวลาทำงาน หรือการทำงานล่วงเวลา (โอที) ในวันแรงงานซึ่งตามกฎหมายเป็นวันหยุดตามประเพณี นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลา 3 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ (มาตรา 63) จากตัวอย่างเดิม ลูกจ้างทำงานได้วันละ 400 บาท หากนายจ้างให้มาทำงานนอกเวลางานปกติ หรือทำงานล่วงเวลาจำนวน 3 ชั่วโมง ก็ต้องจ่าย 3 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมง ซึ่งต้องนำ 400 บาทมาหาร 8 ชั่วโมงอันเป็นเวลาทำงานปกติ จะได้ชั่วโมงละ 50 บาท คูณ 3 เท่าจะได้ 150 บาท หากทำงาน 3 ชั่วโมงในวันแรงงานจะต้องได้เงิน 450 บาทต่อชั่วโมง
นายจ้างไม่ให้หยุดวันแรงงาน ให้ไปหยุดวันอื่นชดเชยแทนได้หรือไม่
ทำไม่ได้ เพราะกฎหมาย “บังคับให้หยุดวันแรงงาน” คือวันที่ 1 พฤษภาคม ส่วนอีก 12 วันเลือกจากวันหยุดราชการ วันหยุดทางศาสนา วันหยุดตามประเพณีท้องถิ่นได้ จึงเท่ากับว่าวันแรงงานกฎหมาย “บังคับ” และ “ล็อก” วันแรงงานเอาไว้ในประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง วันแรงงานแห่งชาติ โดยในข้อ 3 กำหนดว่า “ให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ”
ดังนั้น หากมีการให้ไปหยุดวันอื่นแทนก็ต้องถือว่านายจ้างให้ทำงานในวันแรงงานต้องจ่ายเพิ่มอีก 1 แรง หรืออีก 1 เท่าของของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ซึ่งประกาศให้ทำงานในวันดังกล่าวไม่เสียไป หรือไม่เป็นโมฆะ นายจ้างก็อาจมีโทษอาญาเพราะถือว่าไม่ได้ประกาศวันหยุดตามประเพณี ซึ่งเป็นวันแรงงาน
วันแรงงาน มีกิจการใดบ้างที่ได้ข้อยกเว้นให้เลื่อนไปหยุดวันอื่นได้
งานตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 4 ที่ให้เลื่อนไปหยุดวันอื่นได้ ได้แก่ งานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้ายขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล และสถานบริการการท่องเที่ยว งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะหรือสภาพ ของงานต้องทำติดต่อกัน ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน ซึ่งงานข้างต้นจะเห็นว่าเป็นงานที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากในวันหยุดหรือเป็นงานที่ทำในที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร การเดินทางไปกลับก็จะใช้เวลาวันหยุดเกือบหมดแล้วจึงทำให้ลูกจ้างไม่สามารถหยุดได้กฎหมายจึงให้เลื่อนได้
วันแรงงาน ไม่รับโทรศัพท์ ไม่ติดต่อบริษัทได้หรือไม่
ลูกจ้างมีสิทธิปฎิเสธการติดต่อสื่อสาร เพราะกฎหมายใหม่ใช้บังคับแล้ว (มาตรา 23/1) ซึ่งวันแรงงานเป็นวันหยุดซึ่งนอกเหนือเวลาทำงานลูกจ้างจึงปฏิเสธการติดต่อสื่อสารได้
ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง วันแรงงานแห่งชาติ
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2541/E/071/5.PDF
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ