สิทธิของพนักงานเมื่อถูกเลิกจ้าง เช็กสิทธิต่างๆ ที่ต้องได้รับ ทั้งจากบริษัทตามกฏหมายแรงงาน สิทธิประกันสังคม รวมไปถึงเงินตนเองที่สะสมอยู่ในกองทุนต่างๆ ประกัน และสินทรัพย์อื่นๆ หากผิดเงื่อนไขผลกระทบที่จะได้รับ และทางเลือก
1. ค่าชดเชย ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
เมื่อบริษัทเลิกจ้างพนักงานที่ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง บริษัทต้องจ่ายเงินก้อน เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างของพนักงาน 1 – 13.3 เดือนก่อนถูกเลิกจ้าง ขึ้นอยู่กับอายุงานที่ได้ทำงานมากับบริษัท หรือที่เรียกว่า “ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน” ดังนี้
- อายุงาน 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- อายุงาน 1 ปี แต่ยังไม่ครบ 3 ปี รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- อายุงาน 3 ปี แต่ยังไม่ครบ 6 ปี รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- อายุงาน 6 ปี แต่ยังไม่ครบ 10 ปี รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
- อายุงาน 10 ปี แต่ยังไม่ครบ 20 ปี รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
- อายุงาน 20 ปีขึ้นไป รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน
ค่าเสียหายจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้า
ค่าเสียหายนี้เกิดในกรณีหากนายจ้าง “ไล่ออก” ทันทีโดยไม่บอกล่วงหน้า ถือว่า นายจ้างทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน นอกจากจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกรณีเลิกจ้างทั่วไป ตามข้อ 1 แล้ว (มาตรา 118) ยังต้องจ่ายค่าเสียหายจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้าด้วย ตามมาตรา 17/1 เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างในอัตราที่ลูกจ้างได้รับอยู่อัตราสุดท้าย คิดเต็มจำนวนเสมือนหนึ่งว่านายจ้างได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้เตรียมตัวก่อนออกจากงาน แต่ค่าเสียหายจำนวนนี้จะคิดอย่างมากที่สุด ไม่เกินค่าจ้างสามเดือน
กรณีเลิกจ้างแบบไหนที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
1.ลูกจ้างสมัครใจขอลาออกเอง
2.ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจกระทำความผิดอาญาต่อนายจ้าง
3.จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
4.ลูกจ้างประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
5.ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย และนายจ้างได้เตือนลูกจ้างเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน (หนังสือเตือนมีอายุ 1 ปี นับจากวันที่ลูกจ้างกระทำความผิด)
6.ลูกจ้างได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร และไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม
7.ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
8.การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดเวลานั้น ๆ
2. เงินทดแทนการว่างงาน จากประกันสังคม
พนักงานที่ส่งเงินสมทบประกันสังคมในฐานะพนักงานประจำ หรือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาเป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป หากถูกเลิกจ้าง จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการว่างงานหรือตกงานจากประกันสังคม (คำนวณจากฐานขั้นต่ำของเงินสมทบที่ 1,650 บาท และฐานสูงสุดของเงินสมทบที่ 15,000 บาท) ตัวอย่างดังนี้
- กรณีถูกเลิกจ้าง >> รับเงินทดแทนเดือนละ 50% ของเงินเดือน หรือสูงสุดเดือนละ 7,500 บาท ( คำนวณจากฐานสูงสุดของเงินสมทบที่ 15,000 ) เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
- กรณีลาออก >> รับเงินทดแทนเดือนละ 30% ของเงินเดือน หรือสูงสุดเดือนละ 4,500 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน
โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก ต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของสำนักงานจัดหางานของรัฐที่ https://empui.doe.go.th ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก และต้องรายงานตัวผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนี้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้งด้วย
3.สิทธิรักษาพยาบาล จากประกันสังคม
พนักงานแม้ถูกเลิกจ้างหรือลาออกและไม่ได้มีการส่งเงินสมทบประกันสังคมต่อ ก็ไม่ใช่ว่าจะหมดสิทธิรับสวัสดิการต่างๆ จากประกันสังคมเสมอไป อย่างเช่น สิทธิรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลที่แจ้งไว้กับประกันสังคม หากก่อนหน้านี้ได้มีการส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้ว 3 เดือนขึ้นไป จะยังคงใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้อีก 6 เดือน ถัดจากเดือนที่ถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนประกันสังคม แต่หากจำสถานพยาบาลไม่ได้ สามารถเช็กข้อมูลได้จากแอปพลิเคชัน SSO Connect หรือโทรสอบถาม 1506
ข้อควรรู้ กรณีที่ผิดเงื่อนไข
นายราชันย์ ตันติจินดา นักวางแผนการเงิน (CFP®) และที่ปรึกษาการเงิน ธนาคารกสิกรไทย ได้ให้คำแนะนำ สำหรับพนักงานที่มีเงินหรือลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) , กองทุน SSF ,กองทุน RMF หรือประกันชีวิต แต่มีเหตุให้ต้องออกจากงานว่า โดยปกติจะต้องสะสมเงินและถือไว้ให้ครบเงื่อนไข แต่หากจำเป็นต้องใช้เงินหรือต้องหยุดสะสมเงินเพื่อให้มีเงินเหลือเพียงพอกับการใช้จ่ายเฉพาะหน้า ก็อาจจำเป็นต้องเลือกที่จะยอมผิดเงื่อนไข แต่ควรเลือกผิดเงื่อนในทางเลือกที่ได้รับผลกระทบหรือบทลงโทษน้อยที่สุด ดังนั้นคนที่ถูกเลิกจ้าง จึงควรรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นหากผิดเงื่อนไขในแต่ละทางเลือก ดังนี้
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
- หากนำเงินออก โดยอายุงานไม่ถึง 5 ปี >> เงินที่ได้รับต้องนำไปรวมกับรายได้อื่น เช่น เงินเดือน โบนัส ฯลฯ เพื่อคำนวณภาษี ดังนั้นหากก่อนถูกเลิกจ้างเป็นพนักงานที่มีฐานรายได้สูง ภาษีที่ต้องชำระก็จะสูงตาม
- หากนำเงินออก โดยมีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป และอายุตัวไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ >> สามารถเลือกนำเงินที่ได้ไปกรอกภาษีสิ้นปีด้วย “ใบแนบ ภ.ง.ด. 91/90” พร้อมกับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเงินก้อนอื่นๆ ที่ได้รับครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
- หากนำเงินออก โดยมีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป และอายุตัว 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป >> เงินก้อนที่ได้ จะได้รับการยกเว้นภาษี
สำหรับคนที่ไม่ได้ร้อนเงิน ก็สามารถติดต่อฝ่ายบุคคลของบริษัท (หรือ บลจ. ที่ดูแลกองทุน) เพื่อ
- เลือกโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุน RMF ภายใต้ บลจ. เดียวกัน และถือลงทุนต่อจนอายุตัวครบ 55 ปีบริบูรณ์ ก็จะไม่มีภาระภาษี
- หรือ ขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม โดยมักมีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 500 บาท เพื่อรอโอนย้ายเงินไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่อื่น หลังได้งานใหม่และผ่านช่วงทดลองงานแล้ว
กองทุน SSF
หากมีการขายคืนหน่วยลงทุนที่ถือไว้ไม่ถึง 10 ปีเต็ม
- ต้องคืนเงินภาษี ในปีที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนไป พร้อมเงินเพิ่ม 1.5%ต่อเดือน นับตั้งแต่ เม.ย. ถัดจากปีที่ใช้สิทธิจนถึงเดือนที่นำเงินภาษีไปคืน
- กำไรที่ได้จากการขายคืน ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีเงินได้
กองทุน RMF เช่น
- หากมีการขายคืนโดยลงทุนมาไม่ถึง 5 ปี (ไม่ว่าอายุตัวจะมากกว่าหรือน้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ก็ตาม)
- ต้องคืนเงินภาษีทั้งหมดที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนไป ภายในเดือน มี.ค. ถัดจากปีที่ขายคืน
- และกำไรที่ได้จากการขายคืน ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีเงินได้
หากมีการขายคืนก่อนอายุตัว 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม
- ต้องคืนเงินภาษีที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนไป ย้อนหลัง 5 ปี ภายในเดือน มี.ค. ถัดจากปีที่ขายคืน ส่วนกำไรที่ได้จากการขายคืนจะได้รับการยกเว้นภาษี
ประกันชีวิต
สามารถติดต่อบริษัทประกันชีวิต เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- หยุดชำระเบี้ยประกัน โดย (1) ขอลดทุนประกันลง ซึ่งเรียกว่า “ใช้เงินสำเร็จ” หรือ (2) ขอลดระยะเวลาคุ้มครองลง ซึ่งเรียกว่า “ขยายเวลา”
- กู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิต เพื่อให้ได้รับเงินก้อนมาใช้จ่ายด้วยต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ โดยยังคงได้รับความคุ้มครองชีวิตเช่นเดิม หากภายหลังมีการชำระหนี้คืนแล้ว
- เวนคืนกรมธรรม์ ซึ่งเป็นการขอยกเลิกกรมธรรม์โดยจะได้รับเงินตาม “มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์” ซึ่งระบุอยู่ในกรมธรรม์
อย่างไรก็ตาม หากประกันชีวิตนี้ได้เคยนำเบี้ยประกันไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมาก่อน หากการดำเนินการต่างๆ ที่ว่า ทำให้กรมธรรม์สิ้นสุดลงก่อนครบระยะเวลา 10 ปี ต้องดำเนินการคืนเงินภาษี ในปีที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนไป พร้อมเงินเพิ่ม 1.5%ต่อเดือน นับตั้งแต่ เม.ย. ถัดจากปีที่ใช้สิทธิจนถึงเดือนที่ได้นำเงินภาษีไปคืน
อ้างอิงข้อมูล :
- พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 118 และมาตรา 17/1
- สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
- ราชันย์ ตันติจินดา นักวางแผนการเงิน (CFP®) ที่ปรึกษาการเงิน ธนาคารกสิกรไทย
ข้อมูลจาก : msn
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ