(20 พฤษภาคม) เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมอาคารผู้ป่วยนักโทษหญิงภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยสื่อมวลชนที่เข้าไปจะต้องถูกเก็บเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด และต้องผ่านเครื่องคัดกรอง
เมื่อผ่านการตรวจ สื่อมวลชนจะพบ 2 อาคาร ด้านซ้ายเป็นอาคารผู้ป่วยชายสูง 9 ชั้น ด้านขวาเป็นอาคารผู้ป่วยหญิงสูง 2 ชั้น สำหรับจำนวนนักโทษที่ต้องรักษาภายในโรงพยาบาลมีทั้งสิ้น 424 คน เป็นชาย 370 คน หญิง 54 คน
ชั้นที่ 1 ของอาคารผู้ป่วยหญิงเป็นห้องขนาดใหญ่ ถูกแบ่งเป็นห้องพักแพทย์ ห้องเก็บอุปกรณ์ ห้อง ICU ห้อง Treatment ห้องเฝ้าระวัง และทางเดินด้านหน้าทางเข้าห้องต่างๆ จะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์วางไว้
สำหรับห้อง ICU จากการประเมินด้วยสายตา กว้างประมาณ 2.5 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร ภายในห้องจากคำอธิบายของเจ้าหน้าที่มีอุปกรณ์สำหรับกู้ชีพฉุกเฉิน ได้แก่ เครื่องกระตุกหัวใจ หรือ Defibrillator, เครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจของหัวใจผู้ป่วย หรือ EKG Monitor, ยาทุกชนิดสำหรับการรักษาภาวะวิกฤตฉุกเฉิน, สารอื่นในการขยายหลอดเลือดช่วยการเต้นของหัวใจ เช่น กลูโคสและอะดรีนาลีน, เครื่องวัดความดัน, เครื่องคำนวณอัตราการเต้นของหัวใจ, ท่อช่วยหายใจ และกล่องอุปกรณ์ช่วยหายใจ หรือ Ambu Bag
มีเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำ 6-7 คน แพทย์ 2 คน ประจำการตามเวลาราชการ ส่วนกล้องวงจรปิดมี 4 ตัว แบ่งเป็นทางเดินด้านนอก 2 ตัว และภายในห้องกระจก 2 ตัว อยู่มุมซ้าย-ขวา
สำหรับทางเดินหน้าห้องกระจก กว้างประมาณ 3 เมตร แต่มีชั้นล็อกเกอร์สูงประมาณ 80 เซนติเมตร วางตามแนวกำแพง และมีโต๊ะวางอยู่ริมระเบียงจำนวน 3 ตัว ซึ่งมีโต๊ะ 1 ตัววางอยู่ใกล้ทางขึ้นบันได
ชั้น 2 จะมีห้องขนาดใหญ่ทั้งหมด 4 บล็อก เลขที่ 2/1-2/4 โดยทุกห้องเป็นห้องพัดลมทั้งหมด ส่วนทางเดินหน้าห้องมีชั้นวางหนังสือ 1 ตู้ ความสูง 1 เมตร และมีที่นั่งม้าหินยาวทอดริมระเบียง ขณะที่ห้องเลขที่ 2/1-2/2 พบว่ามีเตียงว่างทั้งหมด 10 เตียง โดยไม่มีกระจกกั้นใดๆ
ขณะที่ห้องเลขที่ 2/3-2/4 จะถูกแบ่งไว้ทั้งหมด 4 ห้อง (มี 4 เตียง แต่ละเตียงมีขนาด 3 ฟุต, หมอน 2 ใบ คือ สีน้ำตาล 1 ใบ และสีขาว 1 ใบ ผ้าห่มสีฟ้า 1 ผืน และเตียงถูกปูด้วยผ้าปูสีขาว) และมีกระจกพร้อมติดตั้งลูกกรงสีน้ำตาล
ในส่วนทางเดินหรือปลายเท้าของผู้ป่วย จะเป็นเตียงนอนและที่นั่งสำหรับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) 1 คนต่อ 1 บล็อก รวมทั้งหมดบนชั้น 2 มีเจ้าหน้าที่ อสรจ. รวม 4 คน พร้อมทั้งมีป้ายบริเวณหน้าห้องผู้ป่วยแต่ละบล็อก เพื่อบอกจำนวนผู้ต้องขังภายในห้องนั้นๆ ว่ามีกี่คน เป็นศาสนาใดบ้าง และมีกี่คนออกไปศาล
สำหรับห้องพักผู้ป่วยของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง กว้างประมาณ 1.1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร เตียงของบุ้งและ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าทั้งสองนอนเตียงเดียวกัน เนื่องจากเป็นความต้องการของทั้งสองคน ซึ่งเตียงที่นอนมีขนาด 3 ฟุต
ภายในห้องมีเครื่องวัดความดันแบบพกพา ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ปวดศีรษะ เจลแอลกอฮอล์ และปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล 3 แท่ง และที่หัวเตียงมีหัวจ่ายออกซิเจน ซึ่งห้องของบุ้งอยู่ติดริมลูกกรงทางเดิน ขณะที่กล้องวงจรปิดจากที่สังเกตเห็นมีเพียงบริเวณทางเดินด้านหน้า 1 ตัว มุมกล้องหันไปที่เตียงของบุ้ง
ประเด็นรถนำตัวผู้ต้องขังป่วยส่งโรงพยาบาลแม่ข่ายนั้น เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลว่า หากกรณีเกิดภาวะวิกฤตฉุกเฉินแก่ผู้ต้องขังป่วย รถประเภทดังกล่าวซึ่งมีจำนวน 2 คัน โดย 1 ในนั้นคือรถทะเบียน 8 กช 4837 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถที่ใช้นำตัวบุ้งซึ่งมีภาวะฟุบ วูบหมดสติ จับสัญญาณชีพจรด้วยมือไม่ได้ ออกจากแดนหญิง ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ซึ่งรถจะขับออกมาจากลานจอดรถบริเวณด้านหน้าอาคารทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยมีระยะทางไม่เกิน 50 เมตร ก่อนเข้าประตูแดนหญิง และเข้าจอดเทียบทางลาดใต้อาคารเพื่อรับตัวผู้ป่วย ก่อนขับวนออกประตูสำหรับรถนำส่งผู้ป่วย ซึ่งเป็นประตูเหล็กม้วน อุปกรณ์ภายในรถพยาบาล ยกตัวอย่างเช่น เครื่องกระตุกหัวใจ (AED), หน้ากากออกซิเจน, เครื่องช่วยหายใจแบบบีบมือ (Ambu Bag), ถังออกซิเจน, เครื่องใส่ท่อช่วยหายใจ (Laryngoscope), กระเป๋าช่วยชีวิตฉุกเฉิน, ชุดเฝือกลม และชุดล็อกศีรษะ
ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามรายละเอียดในห้อง ICU ว่ามียาประเภทใดบ้าง เจ้าหน้าที่ระบุเพียงมียาทุกประเภท และเมื่อถามเหตุการณ์วันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถบอกได้ บอกแค่ว่าเป็นไปตามที่ผู้บริหารกระทรวงแถลง
ข่าวจาก : thestandard
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ