สถานการณ์ของ “กองทุนประกันสังคม” นับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญสำหรับคุ้มครองดูแลผู้ประกันตนและลูกจ้างให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ล่าสุดดูเหมือนว่ากองทุนกำลังประสบปัญหา เห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 พบว่า กองทุนฯ มีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต
สวนทางกับแนวโน้มจำนวนแรงงานรุ่นใหม่ ที่จะมีบทบาทในการส่งเงินสมทบเข้าสู่กองทุนฯ ที่ลดลง โดยข้อมูลจากผลการศึกษางบประมาณด้านการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2566) พบว่า ช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายของกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยในปี 2556 สัดส่วนรายจ่ายต่อรายรับอยู่ที่ 34.6% เพิ่มขึ้นเป็น 73.4% ในปี 2564
ถ้าพิจารณาถึงเงินรายรับและรายจ่าย ย้อนหลังไป 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2564 จะพบว่าช่องว่างเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 รายรับอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท ส่วนรายจ่ายอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท ก่อนจะลดลงมาในปี 2563 มีรายรับอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท ส่วนรายจ่ายอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท และในปี 2564 รายรับอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ส่วนรายจ่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการปรับเพิ่มการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในด้านต่าง ๆ อาทิ การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จากเดือนละ 600 บาท เป็น 800 บาท รวมถึงจำนวนผู้ประกันตนเข้าใหม่และเกษียณที่สวนทางกัน โดยในปี 2575 จำนวน ผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพอาจมีมากถึง 2.3 ล้านคน จากเดิมที่ในปี 2565 มีจำนวนเพียง 7.6 แสนคนเท่านั้น
ดังนั้นจึงถือเป็นความเสี่ยงที่กองทุนฯ จะประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและความยั่งยืน และอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังผลประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคต
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบผลการดำเนินการกองทุนประกันสังคม ในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า มีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนประกันสังคม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 มีจำนวน 523,917 แห่ง เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่าน 3,146 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น 0.60% ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีลูกจ้างน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 คน คิดเป็น 73.28% ของจำนวนสถานประกอบการทั้งหมด
ส่วนผู้ประกันตนในความคุ้มครองของกองทุนประกันสังคมทุกมาตรา ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 มีจำนวน 24,633,584 คน ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา จำนวน 13,317 คน หรือลดลง 0.05% และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 167,975 คน หรือเพิ่มขึ้น 0.69%
ขณะที่ข้อมูลรายรับ – รายจ่าย ไตรมาส 1 ปี 2567 แยกเป็นส่วน ๆ ดังนี้
รายรับ
กองทุนประกันสังคมมีรายรับหลักเข้ากองทุนจาก 3 แหล่งด้วยกัน ได้แก่ เงินสมทบรับ ผลตอบแทนจากการลงทุน (ดอกเบี้ยรับ เงินปันผล กำไรจากการขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมจากการให้ยืมหลักทรัพย์) และรายได้อื่น ๆ (ค่าธรรมเนียมรับ ค่าเปรียบเทียบปรับ เงินผูกพันที่ผู้มีสิทธิไม่มารับ ก าไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการลงทุน เงินรับอื่นและเงินเพิ่มตามกฎหมาย) ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2567 กองทุนมีรายรับรวม 100,862 ล้านบาท แยกเป็น
- รายรับจากเงินสมทบ 43,886 ล้านบาท คิดเป็น 43.51% ของรายรับทั้งหมด
- ผลตอบแทน 54,862 ล้านบาท คิดเป็น 54.39% ของรายรับทั้งหมด
- รายรับอื่น ๆ 2,114 ล้านบาท คิดเป็น 2.10% ของรายรับทั้งหมด
รายจ่าย
รายจ่ายของกองทุนประกันสังคมประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ รายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน ค่าบริหารสำนักงาน และรายจ่ายอื่น ๆ (หนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ ค่าจ้างผู้จัดการกองทุนย่อย และขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการลงทุน) ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2567 กองทุนมีรายจ่ายรวม 49,374 ล้านบาท แยกเป็น
- รายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 28,220 ล้านบาท คิดเป็น 57.16% ของรายจ่ายทั้งหมด (จำแนกเป็นกรณีเจ็บป่วย 11,856 ล้านบาท กรณีคลอดบุตร 1,450 ล้านบาท กรณีทุพพลภาพ 287 ล้านบาท กรณีตาย 705 ล้านบาท กรณีสงเคราะห์บุตร 2,048 ล้านบาท กรณีชราภาพ 9,392 ล้านบาท กรณีว่างงาน 2,176 ล้านบาท และมาตรา 40 จำนวน 306 ล้านบาท)
- ค่าบริหารสำนักงาน 1,379 ล้านบาท คิดเป็น 2.79% ของรายจ่ายทั้งหมด
- รายจ่ายอื่น ๆ 19,775 ล้านบาท คิดเป็น 40.05% ของรายจ่ายทั้งหมด
ทั้งนี้กองทุนฯ ระบุว่า ในปี 2563 – 2565 มีการลดอัตราเงินสมทบส่งผลให้เงินสมทบรับในปี 2563 – 2565 ลดลง ขณะที่รายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากการเลิกจ้าง ลาออก และสิ้นสุดสัญญาจ้าง และการเพิ่มประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ข่าวจาก : thansettakij
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ