25 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบโครงการฯ และมอบหมายให้ กษ. โดยกรมการข้าว จัดทำข้อมูลเพื่อนำคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการฯ และงบประมาณต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามความต้องการของเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในลักษณะ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เข้มแข็งและเกิดความยั่งยืน และลดภาระการเงินการคลังของประเทศ โดยมีรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ดังนี้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตในการลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68
2. เพิ่มผลผลิตข้าวด้วยการใช้ปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์ในนาข้าวในสูตรและอัตราที่เหมาะสมตามนิเวศและสภาพพื้นที่ สร้างเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้ปัจจัยการผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ
3. สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็น 3 เท่า ในระยะเวลา 4 ปี
กลุ่มเป้าหมาย
เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน (เกษตรที่ปลูกข้าวทั่วไปประมาณ 4.48 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 54 ล้านไร่ และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ประมาณ 2 แสนครัวเรือน พื้นที่ 1.20 ล้านไร่) ทั้งนี้ ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้สามารถเข้าร่วมโครงการ
ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 – 31 พฤษภาคม 2568
วิธีดำเนินการและเงื่อนไขโครงการฯ
1. สนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ในราคาครึ่งหนึ่ง (เกษตรกรชำระเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ครึ่งหนึ่ง และรัฐบาลสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์อีกครึ่งหนึ่ง) ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง รวมมูลค่าปุ๋ยไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ ปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือหนังสือสำคัญรับแจ้งถูกต้องตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และชีวภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. เกษตรกร 1 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกหลายพื้นที่ ใช้สิทธิ์รวมได้ไม่เกิน 20 ไร่ และไม่ซ้ำซ้อน ตามที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตร
3. เกษตรกรต้องนำไปใช้จริง ห้ามนำไปจำหน่าย แจกจ่ายให้บุคคลอื่น
4. สหกรณ์การเกษตรต้องส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยหากเกษตรกรยังไม่ได้รับปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ธ.ก.ส. จะคืนเงินที่เกษตรกรชำระทั้งหมดให้เกษตรกร
ปุ๋ยที่ขึ้นทะเบียนสำหรับนาข้าวภายใต้โครงการฯ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เลือกรับการสนับสนุนปุ๋ยขึ้นทะเบียนสำหรับนาข้าว จำนวน 16 รายการ
กรอบวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 29,980.17 ล้านบาท แบ่งเป็น
1. เงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายการดำเนินงานตามความต้องการโครงการฯ ในส่วนของ 500 บาทต่อไร่ ที่รัฐบาลสมทบ โดยจัดสรรงบประมาณชดเชยด้วยอัตราต้นทุนทางการเงินถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้า บวกค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาส (ปัจจุบันอัตราร้อยละ 3.62) และบวกต้นทุนเงินตามระยะเวลา วงเงิน 29,518.02 ล้านบาท
1.1 วงเงินจ่ายสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกร วงเงิน 28,350.00 ล้านบาท
1.2 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ วงเงิน 1,168.02 ล้านบาท 1.2.1 ค่าชดเชยต้นทุนเงิน วงเงิน 1,026.27 ล้านบาท และ 1.2.2 ค่าบริหารโครงการ ร้อยละ 2 เป็นเวลา 3 เดือน วงเงิน 141.75 ล้านบาท
2. งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2567 เป็นค่าดำเนินการของ กษ. ในการจัดหาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าว และส่งมอบให้เกษตรกร เช่น ค่าบริหารจัดการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกร ค่าใช้จ่ายสุ่มตัวอย่างและวิเคราะห์คุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ กษ. จะดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อ สงป. ตามขั้นตอนที่กฎหมายและระเบียบกำหนดต่อไป วงเงิน 462.15 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 29,980.17 ล้านบาท
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ร้อยละ 10 ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และมีอำนาจในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเกษตรกรและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2. เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน สามารถเข้าถึงปุ๋ยคุณภาพในราคาถูก สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และยกระดับคุณภาพข้าวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
3. การใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดการหมุนเวียน และสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการไร่ละ 1,000 บาท) ได้ถึงปีละ 24,320 ล้านบาท (เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีละ 54,300-29,980 ล้านบาท)
ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ