“ปุ๋ยคนละครึ่ง” คืออะไร ทำไมสู้แจกเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาทไม่ได้ ทั้งที่ รัฐบาลใช้งบเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ถึง 4.68 ล้านครัวเรือน เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
“ปุ๋ยคนละครึ่ง” หรือชื่อทางการ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ คนละครึ่ง” คือ โครงการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตในการลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 ด้วยการที่รัฐบาลจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง ไม่เกินไร่ละ 500 บาทต่อครัวเรือน ไม่เกิน 20 ไร่
วิธีเข้าร่วมโครงการฯ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าว ปี 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตร สามารถใช้สิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. ระบุปุ๋ยสูตรที่เข้าร่วมโครงการฯ และชำระเงินค่าปุ๋ยและชีวิภัณฑ์ครึ่งหนึ่งผ่านแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส.
นอกจากนี้ คนที่เข้าร่วมโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ยังรวมถึงลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ด้วย ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2567 – 31 พฤษภาคม 2568
ประเด็นที่เห็นชัด นอกจากการช่วยเหลือชาวนาในการผลิตข้าวนาปีดังกล่าว จะไม่จ่ายเป็นเงินสด 1,000 บาท เหมือนที่ผ่านมาแล้ว ยังต้องจ่ายค่าปุ๋ยอีกครึ่งหนึ่งด้วย
จริงอยู่, รัฐบาลเศรษฐา อาจมองในมุมของการใช้เงินให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มผลผลิตข้าว แต่ในมุมของ “ชาวนา” คนยากคนจน “เงิน” เป็นสิ่งสำคัญในการบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงต้นฤดูทำนา ไม่แต่เฉพาะ “ค่าปุ๋ย” หากแต่มีปัจจัยการผลิตอื่นมากมายในกระบวนการผลิตที่ต้องลุงทุน ไม่ว่าจะเป็นค่าไถอย่างน้อย 2 รอบ ค่าเมล็ดพันธุ์ ซึ่งถ้าฟ้าฝนไม่เป็นใจ น้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง ก็อาจต้องลงทุนใหม่ ค่าแรงงานหว่าน-ดำ และชาวนาส่วนใหญ่ ใช้มูลสัตว์“วัว-ควาย” แทนปุ๋ยได้อยู่แล้ว จึงอาจจำเป็นน้อยกว่า “เงินสด”
อย่างนี้นี่เอง ที่นักกิจกรรมทางสังคมมักโจมตีรัฐบาลและนักวิชาการหอคอยงาช้างว่า “คิดจากบนลงล่าง” คือ ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงของชาวนา แต่ชอบคิดแทนชาวนา
ขณะที่ รัฐบาลเศรษฐา อาจคิดว่า รัฐบาลช่วยผ่อนหนักเป็นเบาให้เกษตรกรมาแล้ว ด้วยมาตรการ “พักหนี้” ธ.ก.ส. ในรายที่มีเงินกู้ไม่เกิน 3 แสนบาท เป็นเวลา 3 ปี นั่นอาจเป็นคนละเรื่อง ที่เกษตรกร คาดหวังกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะชอบอวดอ้างว่า รู้จักความเดือดร้อนของ “คนรากหญ้า” ดี ยิ่งกว่านั้น “เงิน” 1,000 บาท เป็นสิ่งที่เคยได้จากรัฐบาลก่อนมาแล้ว ก็ไม่เห็นว่ารัฐบาลเดือดร้อนอะไร
หรือว่า ต้องการเก็บงบประมาณเอาไว้ใช้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลฯ อย่างที่มีบางคนตั้งข้อสงสัย?
ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งนับแต่เป็นรัฐบาลภายใต้ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) เมื่อปี 2557 จนถึงรัฐบาลเลือกตั้ง ก็มีมาตรการช่วยชาวนาด้วยการแจกเงินไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ใช้งบกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท มาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีด้านอื่น เช่น มาตรการ “จำนำข้าวยุ้งฉาง” ซึ่งสาระสำคัญแตกต่างจากจำนำข้าว 2 ข้อ คือ
หนึ่ง กำหนดราคาจำนำแค่ 90% ของราคาตลาด เพื่อให้ชาวนาได้มีโอกาสไถ่ถอน หากราคาข้าวในตลาดสูงกว่า
สอง ชาวนาสามารถเก็บข้าวไว้ที่ยุ้งฉางของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องนำมาฝากไว้ที่รัฐ อ้างว่า เป็นการปิดช่องไม่ให้เกิดการทุจริต ที่สำคัญ ไม่เป็นภาระต่องบประมาณ ที่ต้องเสียค่าจัดเก็บและดูแล
ไม่นับมาตรการอื่นอีก เช่น ทำเกษตรกรรมแปลงใหญ่ โซนนิ่งปลูกข้าว หรือให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ได้ราคาดีกว่า ฯลฯ
ดังนั้น ไม่แปลกที่ชาวนา จะนำเอามาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลเศรษฐา มาเทียบกับรัฐบาล “ลุงตู่” ซึ่งเห็นได้ชัดว่า รัฐบาล “ลุงตู่” ทำให้เกษตรกรได้จับเงินสดมากกว่า
ความจริง ไม่เพียงนโยบาย “ปุ๋ยคนละครึ่ง” เท่านั้น ที่ถือว่า รัฐบาลเศรษฐา อาจเดินเกมผิดพลาด และอ่านปัญหาคนรากหญ้าในสายตาคนเมือง คนรวย คนมีอันเหลือกิน
ยังรวมถึงโครงการตามนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับคนอายุ 16ปีขึ้นไป ครอบคลุมถึง 50 ล้านคน ก็มีข้อผิดพลาดทั้งในแง่ของ “แหล่งที่มาของเงิน” และเงินที่ได้ตกถึงมือของใคร? ซึ่งไม่ใช่คนยากคนจนได้ประโยชน์สูงสุด
เริ่มจากผู้มีสิทธิ์ได้เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท คือประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้านมีสัญชาติไทยอายุเกิน 16 ปี ณ เดือนลงทะเบียน ไม่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000บาท
อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.bangkokbiznews.com/blogs/politics/1134680
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ