6 ส.ค.67 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าว มติชนออนไลน์ รายงานว่า ระหว่างที่นางแดง กองมา ส.ว.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกลุ่ม 9 อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอยู่นั้น นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ เพื่อมารอสลับมาทำหน้าที่ประธานการประชุมนั้น พอได้ฟังนางแดงอภิปรายถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ หยิบกระดาษขึ้นมาซับน้ำตาตลอดเวลา
พร้อมหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายคลิปที่นางแดงอภิปรายด้วย ทั้งนี้นายมงคลให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ยอมรับว่าน้ำตาไหล และรู้สึกตื้นตันใจที่ได้ชาวบ้านมาทำหน้าที่วุฒิสภา และมาพูดแทนชาวบ้าน ตนอายุ 72 ปี ไม่เคยเห็นชาวบ้านมานั่งในสภา และมาพูดแทนเขา คนอื่นก็พูดดี ทางประธานก็ไม่เร่งรัดเวลา เพราะสิ่งที่พูดเป็นสิ่งที่ดีงาม เราก็อยากให้เขาพูด เราจะได้ความรู้จากสิ่งที่เขาพูด
“ที่ตื้นตันใจเพราะว่าเขาพูดในสิ่งที่พ่อแม่เราทำอาชีพนี้มาก่อนว่าถ้าบ้านหนึ่งได้เงินสดมาก็สามารถเอาเงินมาซื้อวัว ควาย ได้ ซึ่งเป็นธนาคารชาวบ้าน ผมอายุ 72 ปีแล้ว และสิ่งที่เขาพูดเป็นวิถีชีวิตของพ่อแม่เรา ถ้ามีเงินซื้อวัวมาตัวหนึ่ง ปีหนึ่งออกลูกก็นำวัวไปขายส่งลูกเรียนหนังสือ เพราะปลูกข้าวไว้แค่พอกิน ไม่ได้ปลูกไว้ขาย” นายมงคลกล่าว
โดยในช่วงหนึ่ง the standard รายงานว่า นางแดง กองมา กล่าวแนะนำตัวว่ามาจากจังหวัดอำนาจเจริญ อาชีพแม่ค้าขายหมู ชีวิตของตนเองพบปะกับพ่อค้าแม่ค้าชาวชนบท หลายๆ คนจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่ารากหญ้า
“คนกลุ่มนี้ไม่ใช่รากหญ้า แต่เป็นรากไม้ใหญ่ต้นหนึ่งที่ค้ำให้ต้นไม้ต้นนั้นแข็งแรง ผลิดอก ออกผล ชูใบกิ่งก้านให้สวยสง่างาม เหมือนต้นไม้อื่นๆ ต้นไม้ต้นนี้มีชื่อว่า ต้นประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์”
แดงกล่าวต่อไปว่า การที่รัฐบาลจะแจกเงินประชาชนคนไทยคนละ 10,000 บาทนั้น พวกตนมีความยินดีเป็นอย่างมาก ดีใจที่จะได้รับเงินไปใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น แต่พอมาเป็นเงินดิจิทัลก็คิดหนัก มีความกังวลว่าจะเอาไปใช้จ่ายอย่างไร บางครอบครัวมีสมาชิก 4-5 คน รวมเป็นเงิน 40,000-50,000 บาท อยากเอาไปซ่อมแซมบ้าน อยากเอาไปซื้อวัวซื้อควายมาเลี้ยง แต่ไม่สามารถทำได้
“ทำไมรัฐบาลไม่แจกเป็นเงินแบบนี้ไปเลยคะ จะได้ใช้ง่ายๆ สำหรับพวกเรานะคะ แต่คนอื่นเราไม่รู้” แดงกล่าว พร้อมกับยกธนบัตรขึ้นมาชูกลางที่ประชุม
‘สว. แดง กองมา’ แนะนำตัวเองว่าทำอาชีพแม่ค้าขายหมู ดีใจที่รัฐบาลแจกเงิน แต่ห่วงว่าเงินดิจิทัลจะใช้ยาก
.#NewsMoments#TheStandardNews pic.twitter.com/xVsmUK7naL— THE STANDARD (@thestandardth) August 6, 2024
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ