21 สิงหาคม 2567 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกประกาศ – คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 5 ฉบับ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 405 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนน เสียง 3 เสียง
สำหรับร่างพ.ร.บ.ที่มีเนื้อหายกเลิกประกาศ – คำสั่งคสช. 5 ฉบับ ที่สภาฯ รับหลักการ ประกอบด้วย
1.ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช.บางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. …. เสนอโดย ครม.
2.ร่างพ.ร.บยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. เสนอโดย ส.ส.พรรคภูมิใจไทย
3.ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช. พ.ศ. …. เสนอโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล
4.ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ลงวันที่ 20 มกราคม พุทธศักราช 2559 พ.ศ. …. เสนอโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล
5.ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคสช. ฉบับที่ 98/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 14/2559 ลงวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2559 และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 57/2559 ลงวันที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2559 พ.ศ. …. เสนอโดย ส.ส.พรรคประชาชาติ เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวกับการจัดการปัญหาชายแดนใต้
ทั้งนี้ ภายหลังสภาฯ มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ทั้ง 5 ฉบับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายถึงปัญหาของคำสั่ง คสช.ที่มีทั้งแง่มุมการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักนิติธรรม ขัดต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงสร้างปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้นเป็นคำสั่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่สามารถทำได้เพราะถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เขียนขึ้นเอง
ทำให้เห็นว่า การออกคำสั่ง คสช.ที่ออกคำสั่งโดยคนคนเดียวหรือคณะเล็ก ๆ ทำได้อย่างง่ายดาย แต่ได้สร้างปัญหาต่อบ้านเมืองของเรามากกว่าที่คิดกัน และต้องเร่งแก้ไขกันอย่างจริงจังแม้จะยากลำบาก สิ่งที่ผมจะมาสะท้อนเพิ่มเติมจากสมาชิกคนอื่น ๆ มีทั้งในแง่ว่าเราควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไร และความลำบากที่จะยกเลิกคำสั่ง คสช.นี้จะเกิดขึ้นในแง่มุมใดบ้าง
คณะรัฐมนตรี ได้เสนอมา 23 รายการ ที่คัดมาว่าสร้างปัญหาอย่างชัดเจน มีความจำเป็นต้องยกเลิกเพราะหมดความจำเป็นหรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เอาเข้าจริงทุกคำสั่งไม่ได้จำเป็นตั้งแต่ต้น และก็ไม่ได้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ใน 23 รายการนี้มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น
– คำสั่ง คสช. 29/2557 และ 41/2557 เกี่ยวกับการกำหนดความผิดและโทษของบุคคลที่ไม่มารายงานตัว – ที่เป็นตัวอย่างของการออกคำสั่งที่ไม่ใช่แค่ไม่จำเป็น แต่ยังผิดมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยไปแล้วว่าเป็นคำสั่งประเภทที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการกำหนดโทษให้แก่บุคคลเป็นการเฉพาะเจาะจง ผมเองก็มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งนี้โดยตรง ต้องไปสู้คดีอยู่ในทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมอยู่เป็นเวลาถึง 6 ปี รวมทั้งมีการเพิ่มข้อหาอื่นๆ ตามมา
ข้อหาตามคำสั่งนี้จริงๆแล้วสุดท้ายก็ใช้เพื่อที่จะหาทางให้บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารต้องไปขึ้นศาลทหารเท่านั้น
– คำสั่ง 57/2559 เรื่องการปรับปรุงการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดน ภาคใต้ – หนึ่งในคำสั่ง คสช.ที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ แต่ทุกฉบับกลับกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้จึงไม่ได้ผล ทั้งในเรื่องความไม่สงบตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจหรือการศึกษา
– คําสั่ง 23/2558 เรื่อง เกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด – ให้ทหารเข้ามาแก้ปัญหาและทำเกินหน้าที่ ละเมิดสิทธิประชาชนได้โดยเหตุอันควรสงสัยในการตรวจสอบตรวจค้นควบคุมตัวโดยไม่จำเป็นต้องรอหมายศาล
นอกจากร่างของ ครม.แล้ว ยังมีอีกหลายร่างและเสนอบัญชีแนบท้ายมาไม่เท่ากัน บางส่วนก็เสนอมาให้มากที่สุดเพื่อให้อยู่ในบัญชีแนบท้าย ปัญหามีอยู่ว่าการยกเลิกคำสั่งโดยวิธีที่เรากำลังทำอยู่นี้คือเสนอร่างพ.ร.บ.มีไม่กี่มาตราแล้วใช้บัญชีแนบท้าย เป็นการเสนอร่างพ.ร.บ.หรือยกเลิกคำสั่งโดยอาจจะไม่มีโอกาสแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะในโครงสร้างของกฎหมายมันจะบอกไว้แค่เพียงว่า ไปยกเลิกคำสั่งตามบัญชีแนบท้ายเท่านั้น
ตัวอย่างจากที่ผมเคยเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญยกเลิกคำสั่ง คสช.ก่อนหน้านี้ในฉบับที่ 14/2559 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ หรือจากการออกคำสั่งเกี่ยวกับประมงจนต้องมีการออกกฎหมายประมงใหม่ คำสั่งดังกล่าวออกพ.ร.บ.ยกเลิกไปเป็นรายคำสั่ง ซึ่งจะมีการบัญญัติบทเฉพาะกาลหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ฝ่ายบริหารหรือผู้ใช้กฎหมายรู้ว่าเมื่อยกเลิกคำสั่งแล้วจะไปทำอะไรต่อไป ดังนั้นนี่อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ ครม. เสนอมาค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับร่างอื่น ๆ
เช่น คำสั่งที่ให้อนุญาตโครงการต่าง ๆ โดยยกเว้นกติกาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ถ้าเราจะยกเลิกคำสั่งนี้แล้วคนที่อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการที่เขาได้รับการยกเว้นจากกฎหมาย เขาจะต้องทำกันอย่างไรหลังกฎหมายยกเลิกคำสั่งคสช.ออกมา เพราะถ้าเป็นยกเลิกโดยคำสั่งใดคำสั่งหนึ่งก็จะสามารถเขียนกำกับไปได้ แต่พอมีรายการแนบท้ายจำนวนมาเกือบร้อยรายการเราจะทำอย่างไร
ขณะนี้จึงมีคำถามว่าร่างที่ต้องการยกเลิกที่จำนวนไม่เท่ากันเลยนั้น จะพิจารณาประเด็นต่างๆนี้ได้อย่างไร ได้แก่
1. การพิจารณาหลายฉบับรวมกันจะทำได้อย่างไร
2. จำนวนรายการที่เหมาะสมควรมีจำนวนเท่าไหร่กันแน่
3. คำสั่งที่จะคัดเลือกมาบรรจุให้ยกเลิกร่วมกัน ด้วยเหตุผลอะไร
4. เราจะศึกษาและได้ข้อเสนอที่ละเอียดรอบคอบได้อย่างไร ถ้าการยกเลิกบางคำสั่งจะต้องไปบัญญัติกฎหมายเพื่อให้เป็นการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือบัญญัติให้ฝ่ายบริหาร ประชาชน ภาคเอกชน เข้าใจว่าเมื่อยกเลิกแล้วจะทำอะไรต่อไป…ได้อย่างไร
5. เราจะร่างกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช.นี้ โดยลดปัญหาที่ตามมาและอุดช่องว่างช่องโหว่ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากการยกเลิกคำสั่งได้อย่างไร
ทั้ง 5 ข้อนี้คงจะต้องมาพิจารณากันอย่างรอบคอบ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างจริงจังในชั้นกรรมาธิการต่อไปครับ ซึ่งผมจะร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างนี้ด้วยครับ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ