เดินหน้าค่าจ้างขั้นต่ำ 400 ทั่วประเทศ รอรัฐบาลใหม่ประกาศ





4 กันยายน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมรับงานและอาชีพอิสระ เพื่อคนไทยมีอาชีพ มีรายได้ ปีงบประมาณ 2567” และมอบโล่รางวัลสำหรับกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านที่มีความเข้มแข็งเป็น Best Practices ที่กระทรวงแรงงานว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มีการประสานงานระหว่างกรมการจัดหางาน (กกจ.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในการที่จะช่วยให้ผู้คนมีงานทำได้อัพสกิลเพื่อเพิ่มรายได้

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีแรงงานอยู่ในประกันสังคมตามมาตรา 33 ประมาณ 12 ล้านคน, มาตรา 39 ประมาณ 2 ล้านคน ส่วนมาตรา 40 ขณะนี้มีประมาณ 11 ล้านคน แต่อาชีพกลุ่มอิสระที่นอกเหนือจาก 3 กลุ่มนี้ อีกประมาณ 20 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการหลอกลวงเรื่องรับงานไปทำที่บ้านที่กำลังแพร่หลายในโลกออนไลน์ นายพิพัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้มีการประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อไปทําการจับกุมแล้ว โดยเฉพาะทาง กกจ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปติดตาม และพยายามไปปิดและบล็อกเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีการออกมาหลอกลวง โดยขอให้ผู้ใช้แรงงานเข้าไปที่ออนไลน์ของแพลตฟอร์มของโครงการจัดหางานโดยตรง

เมื่อถามถึงการแถลงนโยบายต่างๆ ในรัฐบาลใหม่และความคืบหน้าเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำ นายพิพัฒน์กล่าวว่า เรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำ ทางกระทรวงแรงงานก็ยังยืนยันนโยบายตามรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และยังทํางานต่อเนื่อง ซึ่ง นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ก็ได้ยืนยันมาตลอดเวลาว่า ค่าจ้างขั้นต่ำที่ 400 บาท จะประกาศใช้พร้อมกันทั้งประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 แต่จะใช้เป็นบางกลุ่มอาชีพ บางขนาดของสถานประกอบการ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดขอให้รอการประกาศอีกครั้ง

“ในต้นเดือนกันยายนนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) จะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้างอีก 2 ครั้ง หลังจากนั้นก็จะมีการประกาศโดยปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมกับคณะกรรมการไตรภาคีที่ดูแลเรื่องของค่าจ้างภายในเดือนนี้อย่างแน่นอน หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น เพราะฉะนั้น กระทรวงแรงงานก็พร้อมที่จะทําตามนโยบายที่รัฐบาลได้กําหนดต่อเนื่องจากสมัยของนายเศรษฐา สู่รัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็อาจจะมีนโยบายซึ่งจะต้องเป็นการรวมนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลหลายๆ พรรค และมาทําเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยต้องรอการแถลงของรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้กระทรวงแรงงานก็ส่งนโยบายของกระทรวงแรงงานไปประกบในรัฐบาลโดยผ่านทางพรรคร่วมรัฐบาลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” นายพิพัฒน์กล่าว

เมื่อถามถึงประเด็นแนวทางการช่วยเหลือแรงงานในยุควิกฤตเศรษฐกิจที่บริษัทขนาดเล็ก (SMEs) ทยอยปิดกิจการ นายพิพัฒน์กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้เข้าไปติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริษัทที่ปิดกิจการ ขอให้ผู้ที่ใช้แรงงานหากไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือสวัสดิการต่างๆ ที่บริษัทได้ประกาศไว้ ขอให้ร้องเรียนไปที่ 5 เสือแรงงานเป็นเบื้องต้น เพราะเป็นจุดที่ใกล้ที่สุด และ กสร.จะเข้าไปดูแลจะช่วยกระบวนการในการเจรจา

“หรือสามารถประสานไปที่อาสาสมัครแรงงาน (อสร.) ทุกตําบล โดยจะมีอาสาสมัครแรงงานให้คําแนะนํา โดยในอนาคตเมื่อสิ้นปี 2569 ก็จะมีบัณฑิตอาสาสมัครประจํา 1 คน/อำเภอ แต่ขณะนี้วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการเข้าไปร้องกับทาง อสร.และขอรับคำแนะนําต่อไป” นายพิพัฒน์กล่าว และว่า ขณะนี้ในแต่ละสัปดาห์มีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่กระทรวงแรงงานและ กสร.ในทุกจังหวัด และมีทุกวัน สิ่งสําคัญเหล่านี้กระทรวงแรงงานไม่ได้ละเลย และพยายามที่จะประสานผลประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงานทุกคน เราต้องพยายามปกป้องผู้ใช้แรงงานไม่ได้เอารัดเอาเปรียบ

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: