22 ก.ย.67 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ศปป.5 กอ.รมน. จัดกิจกรรม “สื่อมวลชนสัมพันธ์” พาสื่อส่วนกลางลงพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของ “หน่วยปฏิบัติ” ทั้งทหาร ตำรวจ อส. ซึ่งรับผิดชอบงานความมั่นคง และ ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนา
โดยประเด็นที่มีการซักถามกันมากที่สุด ก็คือ การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีกระแสเรียกร้องจากบางฝ่ายให้ยกเลิก เพราะเป็นกฎหมายพิเศษที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน แต่กลับบังคับใช้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 หรือเกือบ 20 ปีเต็มแล้ว ต่ออายุขยายเวลาทุกๆ 3 เดือน มาถึง 77 ครั้ง เดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้จะพิจารณาต่ออายุครั้งที่ 78
พล.ต.ต.นิตินัย หลังยาหน่าย รองผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รอง ผบ.กกล.ตร.จชต.) เปิดใจว่า หากถามตำรวจ ทหาร ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ไม่มีใครอยากให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะเป็นกฎหมายที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากกลุ่มก่อความไม่สงบทำงานเป็นเครือข่าย การใช้กฎหมายปกติให้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาได้แค่ 48 ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถหาข้อมูลข้อเท็จจริงจากผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เป็นเครือข่ายได้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้เวลาควบคุมตัว 30 วัน จึงช่วยการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้มาก ทำให้ควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้จนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกันยังเป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาซัดทอด ไม่ด่วนถูกดำเนินคดีทั้งที่อาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงด้วย
ส่วนกระแสเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการสร้างกระแสจากคนบางกลุ่มเท่านั้น ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่เป็น “สุจริตชน” กว่า 80% ไม่ได้เดือดร้อนกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่กระแสเรียกร้องก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้การต่ออายุขยายเวลาการบังคับใช้แต่ละครั้ง ต้องพิจารณากันหลายด้านด้วยความรอบคอบ
ข่าวจาก สำนักข่าวอิศรา
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ