การหลอกขายสินค้าออนไลน์ ถือเป็นคดียอดฮิต ของคดีหลอกลวงทางออนไลน์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับแจ้งความออนไลน์มากที่สุด ซึ่งไม่ต่างจากสถิติของสภาผู้บริโภค ที่พบ “สินค้าและบริการทั่วไป” ช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือเพื่อร่วมกันในการหาทางออกคุ้มครองผู้บริโภค หลังมีข่าวหลายต่อหลายครั้งที่ผู้บริโภคสั่งของอีกอย่าง แต่เมื่อมาถึงกลับกลายเป็นอีกอย่าง หรือไม่ก็มีพัสดุมาส่งถึงบ้าน แต่เมื่อเก็บเงินปลายทางแล้ว สุดท้ายเปิดกล่องออกมาเจอสินค้าที่ไม่ตรงปก หรือเป็นสินค้าที่ไม่ได้สั่ง การคิดจะเรียกร้องเอาเงินคืนก็พบกับขั้นตอนที่แสนจะยุ่งยาก
ล่าสุดวันนี้ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ผู้บริโภคที่สั่งซื้อของออนไลน์ สามารถเปิดพัสดุเพื่อตรวจสอบสินค้าได้ก่อนจ่ายเงิน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปก รวมถึงการได้รับสินค้าทั้งที่ไม่ได้สั่งได้ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกมาขานรับเรื่องนี้ กระทั่งออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา “เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567”
สาระสำคัญของ มาตรการ ‘เปิดก่อนจ่าย’ การปฏิบัติของผู้ประกอบการขนส่ง ขั้นตอนที่ผู้ประกอบการควรปฏิบัติ หลักฐานการรับเงินต้องระบุรายละเอียดอย่างไรนั้น รวมถึงการปฏิบัติ และสิทธิของผู้บริโภค มีอะไรบ้าง เราไปดูกัน
หน้าที่ ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งที่เรียกเก็บเงินปลายทาง
1. จัดทำและส่งมอบ / จัดทำหลักฐานการรับเงินตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ โดยระบุข้อความให้ถูกต้องครบถ้วน และส่งมอบให้กับผู้บริโภคทันทีที่ผู้บริโภคชำระเงิน
2. ลงชื่อ / พนักงานของผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่เป็นผู้รับเงินและผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงินต้องลงชื่อในหลักฐานการรับเงิน
3. ให้สิทธิผู้บริโภคเปิดสินค้าก่อนชำระเงิน / หากผู้บริโภคประสงค์เปิดดูสินค้าก่อนชำระเงิน ต้องให้กระทำได้โดยบันทึกหลักฐานเป็นภาพถ่ายวิดีโอ หรืออื่นๆ และให้ผู้บริโภคตรวจสอบสินค้าทางกายภาพ หากพบสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้า แต่มีสินค้ามาส่งผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธไม่รับสินค้าและไม่ชำระเงินได้
4. ระยะเวลาถือเงิน / ถือเงินค่าสินค้าที่รับมาจากผู้บริโภคเป็นเวลา 5 วัน ก่อนนำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า
5. รับสินค้าคืน / เมื่อได้รับแจ้งขอคืนสินค้าและขอรับเงินคืนจากผู้บริโภคภายใน 5 วัน เนื่องจากสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้า แต่มีสินค้าไปส่ง ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งต้องไปรับสินค้าคืนจากผู้บริโภค ณ สถานที่ส่งมอบสินค้าโดยผู้บริโภคไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใดๆ
6. ตรวจสอบเหตุการแจ้งคืนสินค้า / ตรวจสอบสินค้าที่ถูกแจ้งคืน หากพบว่า เป็นไปตามเหตุผลที่ผู้บริโภคแจ้งมาจริง ต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคเต็มจำนวน ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และส่งมอบสินค้านั้นคืนให้กับผู้ส่งสินค้า
สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค
1. เปิดสินค้า / สิทธิเปิดดูสินค้าตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ต่อหน้าพนักงานขนส่ง พร้อมบันทึกหลักฐานเป็นภาพถ่าย วิดีโอ หรืออื่นๆ โดยการตรวจสอบทางกายภาพ เช่น ประเภท สี ขนาด จำนวน หากสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อหรือสินค้าชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้ามาส่ง ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธไม่รับสินค้าและไม่ชำระเงิน
2. สิทธิของคืนสินค้าและขอเงินคืน / สิทธิแจ้งขอคืนสินค้าและขอรับเงินคืนจากผู้ประกอบธุรกิจในกำหนดเวลา 5 วัน นับแต่วันที่ได้ชำระเงินและรับสินค้า หากสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้ามาส่ง พร้อมบันทึกหลักฐานเป็นภาพถ่าย วิดีโอ หรืออื่นๆ หากเป็นไปตามเหตุจริง ผู้บริโภคจะได้รับเงินค่าสินค้าเต็มจำนวน ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเหตุโต้แย้งสินค้า
3. การปฏิเสธสินค้าทั้งหมด / กรณีสินค้าที่สั่งซื้อมีจำนวนมากกว่า 1 ชิ้นต่อหนึ่งกล่องพัสดุ หากปรากฏว่า สินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อหรือสินค้าชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคต้องปฏิเสธการรับ หรือแจ้งคืนสินค้าทั้งหมด รวมถึงของแถมและส่งคืนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ
4. ไม่พอใจสินค้า คืนไม่ได้ / ไม่สามารถปฏิเสธไม่รับสินค้าหรือขอเงินคืนจากเหตุไม่พึงพอใจในสินค้า
ข้อมูลจาก: สภาองค์กรของผู้บริโภค และ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB)
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ