เปิดรับฟังความเห็น “ร่างกฎ ก.พ.” เกณฑ์ย้าย-โอน “ขรก.บริหาร”





11 ต.ค.67 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทบริหารในหรือต่างกระทรวงหรือกรม พ.ศ. …. ซึ่งออกตามความในมาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551

สำหรับ ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทบริหารในหรือต่างกระทรวงหรือกรม พ.ศ. …. ดังกล่าว ก.พ. ได้วางหลักการของการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งฯ ไว้ 5 ประการ ได้แก่

1.หลักการบริหารราชการแผ่นดิน โดยบทบาทการกำหนดนโยบายเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมือง และบทบาทในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเป็นอำนาจของฝ่ายปกครองหรือข้าราชการประจำ

2.หลักการตามระบบคุณธรรม โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคล ความเสมอภาค ความเป็นธรรมประโยชน์ของทางราชการ ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กรและลักษณะของงาน โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งการบริหารทรัพยากรบุคคลต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ทั้งนี้ เพื่อสนองตอบต่อภารกิจของรัฐที่จัดระบบราชการเพื่อสนองความต้องการของประชาชน

3.หลักความโปร่งใสในกระบวนการแต่งตั้ง กำหนดรูปแบบการสรรหา และคัดเลือกโดยใช้ระบบคณะกรรมการที่ อ.ก.พ. กระทรวง แต่งตั้ง สำหรับการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น และระดับสูง ซึ่งรับเงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท โดยคณะกรรมการคัดเลือก ประกอบด้วยบุคคลภายในและภายนอกส่วนราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคัดเลือกให้ทราบโดยทั่วกัน

4.หลักการบริหารงานบุคคลในการเตรียมข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร โดยการเตรียมกำลังคนตามเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพเป็นการเตรียมผู้ที่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้บริหาร

5.หลักการบริหารงานบุคคลในส่วนราชการ โดยสร้างระบบการบริหารงานบุคคลที่เหมาะสมกับแต่ละส่วนราชการ และสอดคล้องกับเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพที่ยึดโยงกับความรู้ในงาน ทักษะ สมรรถนะ และผลการปฏิบัติงาน

ส่วนสาระสำคัญของ ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทบริหารในหรือต่างกระทรวงหรือกรม พ.ศ. …. มีดังนี้

ส่วนแรก กำหนดช่วงเวลาการบังคับใช้กฎ ก.พ. เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และกำหนดกับคำนิยามเกี่ยวกับการย้าย การโอน และการเลื่อน

หมวด 1 บททั่วไป กำหนดหลักการของการแต่งตั้ง โดยกำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจในการแต่งตั้ง กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้ง กำหนดเรื่องการยินยอมของข้าราชการในการแต่งตั้งบางกรณี รวมทั้งการจัดกลุ่มตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าว

หมวด 2 การย้าย กำหนดกรณีการย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น และระดับสูง โดยวางหลักการไว้ใน 2 กรณี ได้แก่

กรณีที่ 1 เป็นกรณีที่อยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่จะพิจารณาย้ายได้ โดยเป็นกรณีการย้ายในประเภทและระดับเดียวกัน และการย้ายกรณีที่ผู้นั้นเคยดำรงตำแหน่งประเภทและระดับนั้นๆ มาแล้ว เช่น การย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ในสายงานเดียวกัน

หรือการย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ในสายงานบริหาร ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ในสายงานอื่นที่มิใช่สายงานบริหาร หรือการย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ซึ่งรับเงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ซึ่งรับเงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท

รวมทั้งกรณีการย้ายจากต่างประเภทตำแหน่งมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร เช่น การย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ในสายงานอื่นที่มิใช่สายงานบริหาร

กรณีที่ 2 เป็นกรณีที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนดก่อนแล้ว ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จึงจะดำเนินการย้ายได้ เช่น การย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ในสายงานอื่นที่มิใช่สายงานบริหาร ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ในสายงานบริหาร ซึ่งต้องดำเนินการ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจากข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น และสมัครเข้ารับการคัดเลือก

การย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้น ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นในสายงานอื่นที่มิใช่สายงานบริหาร การย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงรับเงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง รับเงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท ซึ่งต้องดำเนินการโดยกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจากรายชื่อที่ส่วนราชการเสนอมา

หมวด 3 การโอน กำหนดกรณีการโอนตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น และระดับสูง โดยวางหลักการ ไว้ใน 2 กรณี เช่นเดียวกับการย้าย โดยแบ่งเป็นกรณีที่อยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุของส่วนราชการที่จะรับโอนที่จะพิจารณารับโอนได้ และกรณีที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่ ก.พ. กำหนดก่อนแล้วผู้มีอำนาจสั่งบรรจุของส่วนราชการที่จะรับโอนจึงจะดำเนินการรับโอนได้

ทั้งนี้ ได้วางหลักการในการโอน โดยให้กระทำได้เมื่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้ง 2 ฝ่าย ได้ตกลงยินยอมการโอนนั้นแล้ว เว้นแต่ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุเป็นบุคคลคนเดียวกัน

หมวด 4 การเลื่อน กำหนดกรณีการเลื่อน โดยให้เลื่อนจากตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เฉพาะตำแหน่งที่รับเงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท และให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่ ก.พ. กำหนด โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจากรายชื่อที่ส่วนราชการเสนอมา

บทเฉพาะกาล กำหนดการดำเนินการเกี่ยวกับย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญที่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนดไว้เดิม ที่ยังไม่แล้วเสร็จ และกฎ ก.พ. ฉบับนี้ประกาศใช้แล้ว โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จ รวมถึงในระหว่างที่ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามกฎ ก.พ. นี้ ให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้อยู่เดิมก่อนกฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับ มาปฏิบัติไปพลางก่อน

และการกำหนดให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าตามที่ ก.พ. กำหนดไว้เดิม ก่อนที่กฎ ก.พ. ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ มาใช้จนกว่า ก.พ. จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ใหม่ รวมทั้งกำหนดบทเฉพาะกาลกรณีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า มีผลใช้บังคับ

“เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ลดโอกาสการเกิดความผิดพลาดในการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการแต่งตั้งให้เกิดขึ้นในระบบราชการ โดยมีคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหาร และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอกส่วนราชการ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถพิจารณาความเหมาะสมของบุคคล ได้อย่างรอบคอบ ทั้งศักยภาพ ผลสัมฤทธิ์ของงาน สมรรถนะ ประวัติการรับราชการ ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ รวมทั้งพฤติกรรมทางจริยธรรมและความประพฤติ ตลอดจนประโยชน์ของทางราชการ”เหตุผลการออก ร่าง ก.พ.ฉบับนี้ ระบุ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : การรับฟังความคิดเห็นร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทบริหารในหรือต่างกระทรวงหรือกรม พ.ศ. ….

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: