“สุริยะ”ขอศึกษาไม่ถึงปี​ “เก็บภาษีรถติด” จ่อคิดเก๋งคันละ40-50





22 ต.ค.67  ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม​ กล่าวชี้แจงกรณีที่พรรคเพื่อไทย​โพสต์สำรวจความเห็นด้วย​ เรื่องเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เพื่อทุกคนได้ใช้รถไฟฟ้า​ 20​ บาทตลอดสาย​ว่า​ รัฐบาลมีความพยายามขยายไปให้มีรถไฟฟ้า 20 บาทในเส้นอื่นๆ​ และกำลังเร่งดำเนินการเรื่อง​ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม จะเริ่มได้กันยายนปี 2568​

เมื่อพูดถึงเรื่องการตั้งกองทุนเพื่อจะซื้อรถไฟฟ้าทุกสายนั้น การจะซื้อรถไฟฟ้าทุกสายได้ การขนส่งทางรางก็ต้องมีแหล่งรายได้ด้วย เพื่อที่จะมีเงินไปซื้อรถไฟฟ้า และเมื่อดูการศึกษาในหลายประเทศ เรื่องแก้ปัญหาเรื่องรถติดก็พบว่า​มีการเก็บเงิน หรือเรียกว่าภาษีรถติด​

ดังนั้น​ ตอนนี้กระทรวงคมนาคม​กำลังศึกษาว่าจะเก็บที่ไหนอย่างไร ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เชื่อว่าหากประชาชนใช้รถไฟฟ้าในราคาถูกมาก ๆ​ ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งปัจจุบันเราก็รู้ดีว่า​การใช้รถยนต์ของตัวเองมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก​ และกว่าจะกลับถึงบ้านก็ใช้เวลานานมาก​ ความสุขในครอบครัวก็ไม่มี อย่างไรก็แล้วแต่​ เรื่องของการเก็บภาษีรถติดเราจะให้มีการศึกษาก่อนว่า​ผลออกมาดี หรือไม่ดีอย่างไร หลังจากนั้นก็จะอธิบายให้ประชาชนฟัง ทั้งนี้​ ผลการศึกษาดังกล่าวน่าจะใช้เวลาประมาณสัก 6 เดือน ถึง ​1 ปี​ แต่เรื่องของรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายต้องทำให้เสร็จก่อน โดยยืนยันว่า​ปีหน้าได้แน่นอน​

สำหรับตุ๊กตาที่วางไว้มีตั้งแต่ 40-50 บาท​ต่อวัน​ โดยเป้าหมายจะเก็บในเส้นทางที่มีรถไฟฟ้า เพราะเมื่อมีรถไฟฟ้าแล้ว ยังจะใช้รถส่วนตัวก็จะทำให้เกิดมลภาวะ เราอาจต้องเรียกเก็บ แต่ก็จะมีทางเลือกให้กับรถยนต์ด้วย เช่น เก็บเส้นพารากอน ประชาชนที่จะผ่านเส้นพารากอนเพื่อไปพระโขนง เขาก็จะเปลี่ยนเส้นทางได้ ไปทางเพชรบุรี หรือพระราม 4 ก็ได้ เราต้องมีทางเลือกให้เขา

เมื่อถามเรื่องการเก็บภาษีรถติดอาจต้องทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อกันก่อน นายสุริยะ​กล่าวว่า​ ถูกต้อง ก่อนผลการศึกษาออกมาเราต้องเตรียมระบบขนส่งสาธารณะให้เรียบร้อยก่อน

เมื่อถามว่า การเก็บภาษีรถติดจะกระทบกับภาคธุรกิจในเขตเมืองหรือไม่​ นายสุริยะ​กล่าวว่า​ รถปิกอัพไม่เก็บ​ เก็บเฉพาะรถเก๋ง​ พร้อมเชื่อว่าหากเปลี่ยนพฤติกรรมจากรถเก๋งไปใช้รถไฟฟ้ามลภาวะไม่มีแน่นอน

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: