ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย “สุริยะ” ยืนยันครบทุกสายทุกสี ก.ย. 2568





โดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ กับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยได้ผลตอบรับจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี ความคืบหน้าขอยืนยันว่า นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะใช้ในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยประกาศไว้อย่างแน่นอน

โดยกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่ออายุมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่จะครบในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 นี้ ควบคู่กับผลักดันร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ตามขั้นตอนคาดว่าจะสามารถเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมช่วงเดือนธันวาคม 2567

ในอนาคตเมื่อกฎหมายตั๋วร่วมมีผลบังคับใช้แล้ว จะมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อจัดหาเงินทุนมาสนับสนุนนโยบาย อาทิ ส่วนแบ่งรายได้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, กองทุนอนุรักษ์พลังงาน และงบประมาณ

จิ๊กซอว์อีกตัวเป็นการดำเนินการในส่วนของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาแนวทางค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ด้วยการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ระดมทุนจากนักลงทุนเป็นเวลา 30 ปี วงเงิน 200,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำหนดค่าโดยสารที่ “ถูกลง เป็นธรรม เข้าถึงได้ง่าย”

นอกจากนี้กำลังศึกษาจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อนำเงินเข้ากองทุน และอาจจะพิจารณานำไปเป็นดอกเบี้ย (ผลตอบแทน) ให้กับผู้ระดมทุน โดยจะเริ่มในพื้นที่การจราจรติดขัดหนาแน่นในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้า เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนสีลม ถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น โดยมีตัวแบบในต่างประเทศที่ใช้จริงและประสบผลสำเร็จ เช่น สิงคโปร์ อังกฤษ ฯลฯ

สถานะล่าสุด มีคาดการณ์แนวทางจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเบื้องต้น เริ่มจัดเก็บ 5 ปีแรก ในอัตรา 40-50 บาท จากนั้นในช่วง 5 ปีถัดไป จะทยอยเพิ่มค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในขณะนั้น โดยประเมินเบื้องต้นคาดว่ารายได้จัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่ที่กำหนด วันละ 700,000 คัน หรือ 35 ล้านบาท/วัน คำนวณเท่ากับ 12,000 ล้านบาท/ปี เพื่อนำมาสนับสนุนการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ฮอตอิสชูเรื่องค่าธรรมเนียมรถติด คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในกลางปี 2568

 

ข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจ 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: