เปิด 5 สาขาวิชาเด็กจบใหม่เสี่ยง ‘ตกงาน’ มากที่สุด





ในยุคหนึ่งหลายคนเชื่อว่าการเรียนจบสูงหรือเรียนต่อระดับปริญญาตรี-โท จะเป็นหนทางสู่ความสำเร็จในอาชีพการงาน และได้งานที่มีเงินเดือนสูง แต่รู้หรือไม่? การเข้าเรียนในบางสาขาวิชาอาจทำให้บัณฑิตมีโอกาส “ตกงาน” มากขึ้น โดยผลสำรวจใหม่ล่าสุดจากศูนย์วิจัยด้านการศึกษา Degreechoices พบว่ามี 5 สาขาวิชาที่เด็กจบใหม่ยุคนี้เสี่ยงตกงานมากที่สุด

น่าแปลกใจว่าหนึ่งในนั้นคือ บัณฑิตที่จบจาก “สาขาอาชญาวิทยา (เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย)” มีอัตราการจ้างงานต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 71.5% ส่วนบัณฑิตที่จบจากสาขาด้านการบริการ มีอัตราการว่างงานต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ที่ 57.6%

บางสาขาเรียนจบไปก็ไม่มีงานทำ หรือแม้ว่าได้งานทำ ก็ได้ค่าตอบแทนต่ำ

การศึกษานี้ใช้ฐานข้อมูลของธนาคารกลางนิวยอร์กในปี 2022 นำมาวิเคราะห์ถึงสัดส่วนของวัยทำงานที่มีงานทำในสายงานอาชีพต่างๆ รวมถึงดูว่ามีบัณฑิตจากสาขาใดบ้างที่ถูกจ้างงานน้อยหรือมีอัตราการจ้างงานต่ำ นอกจากนี้การจ้างงานต่ำกว่ามาตรฐานยังพิจารณาจากค่าจ้างเฉลี่ยของผู้ที่จบจากสาขาวิชาต่างๆ ในระดับวิทยาลัยด้วย

โดยผลการศึกษาค้นพบว่า สาขาวิชาที่มีอัตราการจ้างงานต่ำที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สาขากระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรืออาชญาวิทยา, สาขาศิลปะการแสดง, สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ, สาขาการบริการและการต้อนรับ และสาขาศิลปศาสตร์

สำหรับค่าจ้างเฉลี่ยสำหรับผู้ที่เรียนจบสาขากระบวนการยุติธรรมทางอาญาอยู่ที่ 41,000 ดอลลาร์ต่อปี ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสาขาศิลปะการแสดง กลับได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่า อยู่ที่ 38,000 ดอลลาร์ต่อปี ด้านผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการบริการ ได้รับค่าจ้างเฉลี่ย 39,700 ดอลลาร์ต่อปี ขณะที่บัณฑิตที่จบจากสาขาศิลปศาสตร์มีรายได้เพียง 38,000 ดอลลาร์ต่อปี และมีอัตราการว่างงานค่อนข้างสูงเช่นกัน

สาขาอาชญาวิทยาส่วนใหญ่เงินเดือนน้อย และไม่ค่อยเติบโตก้าวหน้าในอาชีพ

โฆษกของ Degreechoices กล่าวในแถลงการณ์ว่า งานวิจัยนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโอกาสในการมีงานทำในสายอาชีพการงานต่างๆ ของบัณฑิตที่จบระดับปริญญาตรี เนื่องจากบัณฑิตจากสาขาอาชญาวิทยามีอัตราว่างงานสูงที่สุดถึงร้อยละ 71.5 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาจะต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความท้าทายในตลาดงานที่อาจเกิดขึ้นเมื่อจบการศึกษาออกไปแล้ว

เด็กจบใหม่สมัยนี้ไม่ใช่แค่ต้องเผชิญกับปัญหาอัตราการว่างงานสูง (ในบางสาขาวิชาข้างต้น) เท่านั้น แต่ ไบรอัน ดริสโคลล์ (Bryan Driscoll) ผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล แสดงความเห็นในเรื่องนี้ผ่านนิตยสาร Newsweek ว่า บัณฑิตเหล่านั้นยังถูกผลักดันให้เข้าสู่สายอาชีพที่ได้ค่าจ้างไม่คุ้มค่ากับเงินค่าเล่าเรียนที่จ่ายไปอีกด้วย ในปัจจุบันคนอเมริกันมีหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษารวมทั้งสิ้นราวๆ 1.75 ล้านล้านดอลลาร์

ยกตัวอย่างเช่น สาขาอาชญาวิทยา เป็นสาขาอยู่ในอันดับต้นๆ ของรายชื่อสาขาวิชาที่มีอัตราการจ้างงานต่ำ เพราะในวิทยาลัยมักจะขยายภาพให้เห็นว่าการเรียนสาขานี้ จะนำไปสู่อาชีพหรือสายงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับกฎหมาย แต่ความจริงก็คือ งานเหล่านี้ส่วนใหญ่จ่ายเงินน้อย และไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เติบโตก้าวหน้า เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมที่แคบ พนักงานจะติดแหง็กอยู่ที่เดิม เมื่อตลาดงานในอุตสาหกรรมนี้อิ่มตัวเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเช่นนั้น

ผู้เชี่ยวชาญ แนะ หาข้อมูลเส้นทางอาชีพ และเงินเดือนให้ดี ก่อนจะเลือกเรียนในสาขานั้นๆ

ดริสโคลล์แนะนำให้นักศึกษาตั้งคำถามหรือหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสาขาที่พวกเขาสนใจว่า เรียนจบไปแล้วจะทำอาชีพอะไรได้บ้าง และฐานเงินเดือนอยู่ที่เท่าไร ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาวิชานั้นๆ

“การเรียนมหาวิทยาลัยไม่ใช่เส้นทางสู่การมีงานดีๆ ที่มีเงินเดือนสูงๆ เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป และเมื่อเส้นทางนั้นนำไปสู่หนี้สินมหาศาล และโอกาสการเติบโตที่จำกัด บางทีระบบการศึกษาอาจต้องได้รับการแก้ไข” ผู้เชี่ยวชาญด้าน HR อธิบาย

อเล็กซ์ บีน (Alex Beene) อาจารย์สอนความรู้ทางการเงินที่มหาวิทยาลัยเทนเนสซี วิทยาเขตมาร์ติน บอกว่า สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชื่อดัง TOP 10 ในสหรัฐ ต้องดิ้นรนกับปัญหาที่ว่าเด็กจบไปแล้วตกงาน หรือเผชิญกับการจ้างงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาหลายปี

สายงานบางประเภท เช่น อาชีพด้านการแสดง และวิจิตรศิลป์ ไม่ใช่อาชีพที่หางานได้ง่ายนัก และสุดท้ายแล้วเด็กที่จบมาด้วยวุฒิปริญญาในสาขาดังกล่าวอาจต้องพึ่งพาอาชีพอื่นเพื่อหารายได้เสริม ขณะที่เด็กจบใหม่จากสาขาอาชญาวิทยา หางานทำว่ายากแล้ว แต่พอได้งานแล้วก็ยังพบว่ามีรายได้ไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับความรับผิดชอบมากมายที่ต้องทำ

 

ข้อมูลจาก : bangkokbiznews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: