สินค้าจีนทะลักด่านอีสาน 3 เดือนเก็บภาษี พุ่ง 450 ล้านบาท





หนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่ภาคคเอกชนเสนอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขคือ สินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการตั้งฐานผลิตในไทยและการเปิดช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์จากจีนที่ผู้ผลิตสามารถส่งสินค้าให้ผู้บริโภคได้โดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ลดต้นทุนและทำราคาต่ำได้

ส่งผลกระทบวงกว้างถึง 23 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นเศรษฐกิจรากฐานของประเทศ

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) รายงานว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยมีการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้น 7.12% หรือคิดเป็นมูลค่า 37,569.89 ล้านเหรียญ ส่งผลให้ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีน 19,967 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 15.66% จากปี 2566 ที่ไทยขาดดุลการค้าจีน 36,635 ล้านเหรียญ

รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาเชิงรุกด้วยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท หรือสินค้าที่มีมูลค่าตั้งแต่บาทแรก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย พร้อมสั่งการให้กรมศุลกากรเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้กรมศุลกากรเป็นผู้จัดเก็บ VAT 7% กับสินค้านำเข้าที่ต่ำกว่า 1,500 บาทเป็นการชั่วคราว เพื่อรอให้กรมสรรพากรสามารถเริ่มจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ตามกฎหมาย

“จะจัดเก็บจากแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์คาดว่า จะสามารถดำเนินการได้ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567”

ทั้งนี้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ใดก็ตามที่เข้ามาขายในประเทศไทย ต่อจากนี้ไปจะต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงการคลัง และแพลตฟอร์มต้องมีการเชื่อมระบบกับกรมสรรพากร เพื่อทำหน้าที่จ่ายภาษี VAT ให้กับกรมสรรพากร ซึ่งขณะนี้้แพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ทั้งหมด ได้เข้ามาหารือร่วมกับสรรพากรเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมระบบกัน

ทั้งนี้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ใดก็ตามที่เข้ามาขายในประเทศไทย ต่อจากนี้ไปจะต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงการคลัง และแพลตฟอร์มต้องมีการเชื่อมระบบกับกรมสรรพากร เพื่อทำหน้าที่จ่ายภาษี VAT ให้กับกรมสรรพากร ซึ่งขณะนี้้แพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ทั้งหมด ได้เข้ามาหารือร่วมกับสรรพากรเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมระบบกัน

“การจัดเก็บ VAT จะทำให้การแข่งขันเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทยมากยิ่งขึ้น แต่ยอมรับว่า กลไกเรื่องของภาษี ไม่สามารถแก้ไขเรื่องปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาได้ทั้งหมด จึงได้สั่งการให้กรมศุลกากรเข้าไปตรวจสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้มงวดมากขึ้น”

ด้านนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากรกล่าวว่า กรมศุลกากรเตรียมที่จะออกประกาศขยายเวลาจัดเก็บภาษี VAT สินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาทออกไปอีก 3 เดือนเป็นสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2568 จากเดิมที่สิ้นสุดสิ้นปี 2567 นี้

ทั้งนี้หลังจากที่กรมศุลกากรเดินหน้าเก็บภาษี VAT สินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 สามารถจัดเก็บรายได้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 (กรกฎาคม-กันยายน 2567) รวมกว่า 450 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยสามารถจัดเก็บรายได้เดือนละ 150 ล้านบาท ส่วนใหญ่สินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ที่นำเข้ามาผ่านด่านศุลกากรมุกดาหารและนครพนม

นายพันธ์ทองกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 มีสินค้านำเข้ามา 133 ล้านชิ้น โดย 120 ล้านชิ้น นำเข้ามาผ่านด่านศุลกากรภาคอีสาน และอีก 13 ล้านชิ้น นำเข้ามาด้วยเครื่องบินผ่านด่านสุวรรณภูมิ

สาเหตุที่ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการต่างประเทศเลือกใช้บริการนำเข้ามาผ่านด่านอีกสาน เนื่องจากมีความสะดวก และลดต้นทุนในการขนส่ง เพราะขนส่งทางเรือหรือรถนั้น มีต้นทุนน้อยกว่าการขนส่งเครื่องบิน และในจำนวนดังกล่าวมีสินค้าที่ไม่มีใบอนุญาตนำเข้าและสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 43 ล้านชิ้น

ขณะที่มาตรการเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและสินค้าที่ไม่มีใบอนุญาตในการนำเข้ามานั้น ในปีงบประมาณ 2567 มีการตรวจจับเพิ่มขึ้นทุกรายการ และทำมูลค่าเพิ่มในทุนสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ผ่าน มอก. รวมมูลค่ากว่า 2,600 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 39,282 คดี

ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าได้รวดเร็วขึ้น และรองรับการจัดเก็บภาษี VAT สินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท

กรมศุลกากรได้เตรียมประกาศปรับเงื่อนไขการขอใบอนุญาตแจ้งขอใบขนย้ายใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ทัน 1 พฤศจิกายน 2567 จากเดิม 1 ใบขนสินค้า สามารถนำเข้ามาสินค้าเข้ามาได้ 250 รายการ แต่ปัจจุบันจะปรับให้ 1 ใบขนสินค้า สามารถนำเข้าสินค้ามาได้ 40 รายการเท่านั้น

ข่าวจาก : ฐานเศรษฐกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: