แก้หนี้เสีย “บ้าน-รถ” ไม่คิดดอกเบี้ย 3 ปี-ลดค่างวดเหลือครึ่ง





รายงานจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจุบันที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาสที่ 2/2567 อยู่ที่ 89.6% ยอดคงค้าง 16.32 ล้านล้านบาท โดยมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทยอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดได้มีการประชุมในช่วงบ่ายวันที่ 1 พ.ย. 2567 ซึ่งคาดหวังว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

ปลดล็อก NPL ไม่เกิน 1 ปี

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ตนได้มอบหมายตัวแทนกระทรวงการคลัง ไปหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเป้าหมายการแก้หนี้ครั้งนี้ เพื่อให้บรรลุ 2 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1.ให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สามารถชำระได้ตามกำลัง และ 2.ช่วยให้มีลู่ทางเข้าถึงสินเชื่อได้

กลุ่มลูกหนี้ที่จะเข้าไปช่วย คือ กลุ่มหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ที่มีการค้างชำระเกิน 30 วันแต่ยังไม่เกิน 90 วัน และกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย (NPL) ไม่เกิน 1 ปี ซึ่งรวม ๆ แล้ว มีอยู่กว่า 1 ล้านราย

“เราเลือกกลุ่มคนที่เพิ่งมีปัญหา พูดง่าย ๆ คือเพิ่งค้างเกิน 30 วัน เราก็เอามาดูด้วย แล้วก็เอาส่วนที่เกิน 90 วัน ไปจนถึง 6 เดือนมาดูด้วย แต่ก็คิดว่าดูถึง 1 ปีเลย เพราะถือว่า 1 ปี ถึงจะยาวไปหน่อย แต่ก็คิดว่ายังเป็นกลุ่มที่น่าจะแก้ไขได้ แต่ที่เกิน 1 ปีไปยาว ๆ อันนั้นเอาไว้ก่อน เพราะอันนั้นแก้ตัวยากแล้ว”

พักดอกเบี้ย 3 ปีหักต้นก่อน

นายพิชัยกล่าวว่า เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้มีความสามารถชำระหนี้ต่อไปได้ จึงเสนอให้มีการพักชำระดอกเบี้ยยาว 3 ปี โดยแหล่งเงินที่เข้ามาช่วยจากทั้งภาครัฐและธนาคารจะต้องช่วยกัน ส่วนหนี้ที่เหลือก็ให้ปรับโครงสร้างให้ผ่อนได้ยาวขึ้น และผ่อนต่องวดลดลง โดยเบื้องต้นอยากให้ลูกหนี้จ่ายต่องวดลดลงเหลือครึ่งเดียว และเงินงวดที่จ่ายมาก็เป็นการไปลดต้นทั้งหมด ซึ่งถ้าออกมาได้อย่างนี้ก็จะดี

ขณะที่ลูกหนี้กลุ่มนี้จะยังคงมีการรายงานประวัติการชำระหนี้ในเครดิตบูโร ให้เป็นหน้าที่ของธนาคาร พิจารณาว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่หรือไม่ โดยจะต้องหารือกับผู้ว่าการ ธปท. ในเรื่องการผ่อนปรนเกณฑ์ เพื่อเปิดทางให้เข้าถึงสินเชื่อด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังจะต้องหารือกับ ธปท. ในเรื่องการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV (การวางเงินดาวน์) ต่าง ๆ ด้วย เพื่อช่วยเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ

ขณะที่ลูกหนี้กลุ่มนี้จะยังคงมีการรายงานประวัติการชำระหนี้ในเครดิตบูโร ให้เป็นหน้าที่ของธนาคาร พิจารณาว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่หรือไม่ โดยจะต้องหารือกับผู้ว่าการ ธปท. ในเรื่องการผ่อนปรนเกณฑ์ เพื่อเปิดทางให้เข้าถึงสินเชื่อด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังจะต้องหารือกับ ธปท. ในเรื่องการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV (การวางเงินดาวน์) ต่าง ๆ ด้วย เพื่อช่วยเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ

เร่งแก้หนี้เพิ่มกำลังซื้อ

นายพิชัยกล่าวด้วยว่า แนวทางเหล่านี้ได้มีการหารือร่วมกับธนาคารพาณิชย์แล้ว และส่วนใหญ่เห็นด้วย อยู่ระหว่างหาข้อสรุปสุดท้าย ก็จะพิจารณาว่า แหล่งของเงินที่จะมาช่วยเรื่องดอกเบี้ยจะมาจากไหน เพื่อดูว่าต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ต่อไป

โดยที่ผ่านมา นายพิชัยให้สัมภาษณ์ว่า การแก้ปัญหาหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ สินเชื่ออุปโภคบริโภค รัฐบาลให้ความสำคัญจะเร่งทำให้เสร็จ หากแก้ไขได้จะทำให้ประชาชนกลับมามีกำลังซื้อ และจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนตามมา

ชง ครม.ลุยมาตรการอสังหาฯ

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังยังเตรียมมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คือ มาตรการสินเชื่อ ซื้อ-แต่ง-ซ่อม-สร้าง บ้านและคอนโดมิเนียมของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่คิดดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 55,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ เพื่อรองรับความต้องการมีบ้านของประชาชนรายได้น้อย ให้เข้าถึงสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ มีโอกาสในการซ่อมแซม ต่อเติมบ้านให้มั่นคงได้ รวมถึงอยู่ระหว่างพิจารณาต่ออายุมาตรการการโอน การจดจำนอง ที่จะสิ้นสุดอายุในสิ้นปี 2567 ด้วย

บ้านไม่เกิน 3 ล้าน-รถ 8 แสน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการแก้หนี้ที่กำลังหารือกันขณะนี้ เป้าหมายคือในส่วนของหนี้บ้านและหนี้รถ จากที่หารือลูกหนี้ที่จะได้สิทธิเข้าร่วมโครงการแก้หนี้มาตรการพิเศษ ต้องเป็นกลุ่มที่เริ่มมีการค้างชำระเกิน 30 วัน กระทั่งกลายเป็นหนี้เสีย (ค้างชำระเกิน 90 วัน) ไม่เกิน 1 ปี โดยในส่วนของลูกหนี้บ้าน ที่มียอดสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท และสินเชื่อรถ ก็กำหนดให้เฉพาะที่มียอดหนี้ประมาณ 8-9 แสนบาท เพราะเป้าหมายคือช่วยประชาชนกลุ่มกลาง-ล่าง โดยหาแนวทางให้ลูกหนี้สามารถกลับมาผ่อนชำระได้ เพื่อให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ

โดยหลักการช่วยเหลือคือให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้พิเศษ โดยให้มีการทำสัญญาไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในช่วง 3 ปีแรก และการผ่อนชำระแต่ละงวดให้ลดน้อยลง รวมทั้งเป็นการตัดเงินต้นทั้งหมด ซึ่งก็จะทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้ได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของดอกเบี้ยที่พักไว้ 3 ปีแรก จะพักไว้ก่อนและยกให้ลูกหนี้ ก็ต่อเมื่อลูกหนี้รายดังกล่าวดำเนินการชำระหนี้ตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้จนครบสัญญา

น็อนแบงก์ยังไม่ได้สิทธิ

แหล่งข่าวกล่าวว่า การดำเนินมาตรการแก้หนี้พิเศษครั้งนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกแบงก์เท่านั้น ยังไม่รวมในส่วนของผู้ประกอบการน็อนแบงก์อื่น ๆ โดยจากเงื่อนไขในเบื้องต้นคาดว่าจะมีจำนวนลูกหนี้เข้าร่วมโครงการกว่าแสนราย และมูลหนี้กว่าแสนล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างมาก คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

ทั้งนี้ ที่ประชุมอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปในรายละเอียด อย่างไรก็ดี ที่มีการกำหนดเป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี เพราะมองว่าถ้าลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียมานานแล้ว โอกาสที่จะสามารถกลับมาชำระหนี้เป็นไปได้ค่อนข้างยาก น่าจะไปในช่องทางของการตัดขายหนี้เสียให้เอเอ็มซี (บริษัทบริหารสินทรัพย์)

โดยเมื่อลูกหนี้ที่กลับมาผ่อนชำระตามปกติ ก็จะทำให้ช่วยลดภาระการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ด้วย ขณะเดียวกัน ทางธนาคารพาณิชย์ก็มีการเจรจา เพื่อปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 0.46% ลดลงมาครึ่งหนึ่งให้เหลือ 0.23% เพื่อนำมาชดเชยในการแก้หนี้

หนี้ครัวเรือนโจทย์ฉุด ศก.

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่เหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจไทย ในระหว่างนี้จนถึงสิ้นปีรัฐบาลและกระทรวงการคลังจะมีมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นมาตรการใหญ่เข้ามาสนับสนุนก่อนสิ้นปี 2567 โดยไม่อยากให้คิดว่าเป็น “การกระตุ้น” แต่เป็น “แรงกระตุก” ให้เกิดแรงขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดแรงเฉื่อย เพื่อมาเติมศักยภาพการเติบโตในปีหน้า และปีถัด ๆ ไป

ดังนั้น มาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีเรื่องของหนี้ครัวเรือน และประเด็นความสามารถการแข่งขันของคนตัวเล็ก เนื่องจากเป็นประชากรที่ครอบคลุมเศรษฐกิจฐานรากในวงกว้าง ซึ่งสาเหตุของปัญหาหนี้ครัวเรือนคือ เศรษฐกิจนอกระบบที่มีขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก โดยโครงสร้างเศรษฐกิจนอกระบบเกือบ 50% ซึ่งประเทศไทยจะนำทรัพยากรจากไหนเข้ามาช่วย

และหากมีมาตรการแก้หนี้เข้ามา ก็จะสามารถดึงคนเหล่านี้ให้เข้าระบบได้ ซึ่งการเข้าระบบไม่ได้แปลว่า เสียภาษีิ แต่เป็นการที่รัฐมีข้อมูลที่ถูกต้องนำไปสู่การตัดสินใจและเข้าใจที่ถูกต้องของปัญหาแต่ละพื้นที่ แต่ละบุคลากรไม่เหมือนกัน

“ผยง” ชี้ต้องมีมาตรการเสริม

นายผยงกล่าวถึงมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนว่า จากการหารือแนวทางแก้หนี้จะแตกต่างไปจากเดิม โดยคำว่าการลดหรือการช่วยเหลือ จะไม่เป็นในลักษณะ “เทศกาล” ปกติ โดยจะมีการผันแปรทรัพยากรในระบบให้ถูกที่ถูกทาง ทำให้เกิดโอกาสของคนตัวเล็ก โอกาสให้คนเข้าทำมาหากิน จะต้องมีการประสานและขอความร่วมมือกับภาคส่วนใหญ่ ๆ เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นลักษณะ K Shape Recovery ซึ่ง K ขาล่าง มีเยอะกว่า K ขาบน

นายผยงกล่าวว่า ต้องพิจารณาว่า การใช้มาตรการทางการเงินจะอยู่ยาวได้แค่ไหน โดยหากมีมาตรการมาเสริมให้มีทักษะ ก็จะอยู่ไปได้ 3-5 ปี หรือมาตรการนี้ช่วยได้แค่ 3-6 เดือน เพราะหากดูระบบเศรษฐกิจระบบการเงินของประเทศ มีทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือน็อนแบงก์ แต่ยังมีสหกรณ์ และหนี้นอกระบบ

“วันนี้ทำไมสภาพคล่องถึงมีการโอนไปลงทุนในต่างประเทศเยอะมาก เพราะในประเทศไม่มีแรงจูงใจ เราจะทำอย่างไรให้ดึงส่วนหนึ่ง 20-30% กลับมาในประเทศ เป็นโจทย์ที่ต้องคิดเพื่อสร้างความต่อเนื่องของมาตรการทางการเงิน”

รับหนี้ครัวเรือนปัญหาสำคัญ

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 3/2567 ว่า มาตรการทางการเงินในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นสิ่งที่ ธปท.ดูแลมาอย่างต่อเนื่อง และมีการพูดคุยกับภาคเอกชนโดยพยายามช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง เนื่องจาก ธปท.ไม่อยากเห็นหน้าผาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL Cliff หรือการหุบร่มกันรุนแรงเกินไป เพราะจะทำให้เกิดภาวะการเงินตึงตัวและเป็นงูกินหางไม่หยุด

“การหาแนวทางร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นสิ่งที่ ธปท.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ในการดูแลภาระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันกับรัฐบาล และภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมากขึ้น ดังนั้นคาดว่าจะมีรายละเอียดมากขึ้นในระยะข้างหน้า ส่วนหนี้เสียที่ยังคงทยอยเห็นเพิ่มขึ้นหลังจากนี้บ้าง แต่ไม่ได้รุนแรง”

หนี้บ้าน-รถยนต์ยังไหลเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2 หรือ SM) หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ของระบบธนาคารพาณิชย์ 28 แห่ง ซึ่งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เอ็นพีแอลที่อยู่อาศัย ณ ไตรมาสที่ 2/2567 อยู่ที่ 101,380 ล้านบาท คิดเป็น 3.71% ของสินเชื่อรวม ขณะที่ตัวเลข SM ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย อยู่ที่ 144,054 ล้านบาท คิดเป็น 5.27%

สำหรับสินเชื่อรถยนต์ เอ็นพีแอล ณ ไตรมาสที่ 2/2567 อยู่ที่ 25,313 ล้านบาท คิดเป็น 2.26% ของสินเชื่อรวม ส่วนตัวเลข SM อยู่ที่ 169,355 ล้านบาท คิดเป็น 15.09% โดยตัวเลขหนี้เสียและ SM ของทั้งสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ข้อมูลสินเชื่อรถยนต์ที่ปรากฏเฉพาะในส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในกำกับของ ธปท.ยังไม่รวมข้อมูลในส่วนของผู้ประกอบการน็อนแบงก์อื่น ๆ

 

ข้อมูลจาก : prachachat

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: